ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 212 ราย

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 10,053 คน (+212)
    • เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 187 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว = 6 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 19 ราย
  • รักษาหายแล้ว 5,546 คน (+291)
  • เสียชีวิตสะสม 67 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 212 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 187 ราย แรงงานต่างด้าวโดยคัดกรองเชิงรุก 6 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 187 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ โดย 158 ราย มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ส่วนอีก 29 รายอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

ส่วนผู้ที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ 19 ราย โดยเข้าสถานกักกันทุกประเภท 14 ราย ประกอบด้วย เยอรมนี 4 ราย, ตุรกี 3 ราย, สหรัฐเอมิเรตส์ 3 ราย, ยูกันดา 1 ราย, สหราชอาณาจักร 1 ราย, สหรัฐอเมริกา 2 ราย และเดินทางมาจากเมียนมา 5 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 10,053 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 5,185 ราย และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2,748 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,120 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 5,546 ราย เพิ่มขึ้น 291 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 67 ราย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 89,355,076 ราย เสียชีวิตแล้ว 1,921,995 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ป่วยสะสมสูงสุด 22,456,902 ราย ตามมาด้วยอินเดียมียอดผู้ป่วยสะสม 10,432,526 ราย, บราซิลมียอดผู้ป่วยสะสม 8,015,920 ราย, รัสเซียมียอดผู้ป่วยสะสม 3,355,794 ราย และสหราชอาณาจักรมียอดผู้ป่วยสะสม 2,957,472 ราย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 129

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกวันนี้สูงมากกว่า 8 แสนราย ขณะที่สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนราย แม้จะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงในการดูแล ส่วนยอดผู้ติดเชื้อในประเทศทะลุ 1 หมื่นราย ซึ่งประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อลดการแพร่เชื้อ

“ตัวเลขทะลุหมื่นรายในเดือนนี้ เป็นวันที่ต้องจดจำอีกวัน ถามว่าจะลดลงเมื่อไหร่ คงไม่ใช่พรุ่งนี้แน่ๆ จะเดือนหน้าหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ถ้าเราทุกพร้อมใจกันเดี๋ยวนี้ กราฟจะหักหัวลง ถ้าปล่อยเวลาไปวันละ 200 กว่าราย จะติดเชื้อเป็นรายนาที…เราพยายามชะลอตัวเลขมาจนถึงเดือนมกราฯ 64 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านถึงไปตั้งแต่เดือนมีนาฯ 63”

นพ.ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการโหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ขณะนี้มีประชาชนโหลดแล้ว 5.34 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนที่ 3.69 ล้านราย ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวจะเป็นปราการสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่มีประชาชนใช้งานจริง 1,011,383 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่มี 183,706 ราย

ประโยชน์จากการโหลดแอปฯ ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เช่น กรณีผู้ป่วยที่บางนาเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.63 มีการแจ้งเตือนไป 45 ราย และกรณีผู้ป่วยในชุมชนชาวเมียนมาย่านแสมดำเมื่อวันที่ 4 ม.ค.64 มีการแจ้งเตือนไป 67 ราย เป็นการส่งข้อความแจ้งเตือน 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และเมียนมา รายละ 3 ครั้ง ต่อกันใน 30 นาที โดยให้ผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือนสังเกตุอาการตัวเองที่บ้าน 14 วัน หากมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้สวมหน้ากากแล้วไปพบแพทย์

โฆษก ศบค.กล่าวว่า มาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ต่างๆ นั้น หากเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะต้องคัดกรองตรวจอุณหภูมิร่างกาย ตรวจแอปพิเคชั่นหมอชนะ แจ้งความจำเป็นในการเดินทาง และมีเอกสารรับรอง ส่วนที่เหลืออีก 72 จังหวัดไม่ต้องมีเอกสารรับรอง แต่ในภาพรวมขอความร่วมมืองดการเดินทางหากไม่มีความจำเป็นจนถึง 31 ม.ค.64 หรือจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลายจึงจะมีการผ่อนผันมาตรการ

“ระลอกใหม่นี้ยังปะทุอยู่ ยังไม่ได้ดับได้ง่ายๆ ซึ่งจะต้องพยายามตะครุบให้เร็วจะได้ไม่เกิดการระบาด…ชลบุรียังมีแนวโน้มเพิ่ม ระยองเริ่มทรงตัว จันทบุรียังไว้ใจไม่ได้ สมุทรสาครยิ่งค้นยิ่งเจอ ส่วนที่อ่างทองยังได้ทำ Case Active Finding นี่คือเหตุผลที่ไม่อยากให้เดินทาง”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ส่วนข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นั้น ศบค.จะตัดข้อมูลในแต่ละแค่ 24.00 น.เพื่อดำเนินการจัดทำแผนภูมินำเสนอ แต่ระหว่างนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีการแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบและจะแจ้งว่าข้อมูลดังกล่าวทาง ศบค.จะเผยแพร่เมื่อไหร่ เพื่อป้องกันความสับสน นอกจากนี้จะมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่จำเป็นเร่งด่วนในเฟซบุ๊คให้ประชาชนรับทราบ

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีผู้ที่เดินทางจากบ่อนการพนันและสถานบันเทิงจังหวัดเมียวดีเข้ามาทางอำเภอแม่สอดติดเชื้ออีก 40 ราย ส่วนความพร้อมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ดังกล่าวนั้น สธ.มีระบบที่สามารถขอความช่วยเหลือจากพื้นที่ใกล้เคียงให้บุคลากรทางแพทย์เข้าไปเสริมได้ ซึ่งผู้บริหารกระทรวงฯ จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ทุกวัน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

ด้านนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า กรณีมีข่าวในประเทศเมียนมาเกี่ยวกับการดูแลแรงงานต่างด้าวของไทยนั้นอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด รัฐบาลขอยืนยันว่าไม่เคยมองแรงงานต่างด้าวเป็นคนอื่นไกล เพราะถือว่าเข้ามาช่วยสร้างประโยชน์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี จึงสมควรที่จะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนในประเทศ ขอให้เข้าใจว่าคนไทยไม่เคยคิดเป็นอื่น มีการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 ชาติสามารถทำงานได้เป็นกรณีพิเศษต่อไปอีก 2 ปี ซึ่งได้เชิญเอกอัครราชทูตเมียนมาลงไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ม.ค. 64)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ม.ค. 64)

Tags: ,
Back to Top