น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์การส่งออกไทย ปี 2564 ว่าจะเติบโตได้ 3-4% (ณ เดือน ม.ค.64) ขณะที่ยังมองว่าสถานการณ์การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 64 จะยังไม่ฟื้นตัว ส่วนการส่งออกไทยในปี 63 คาดว่าหดตัวในช่วง -7 ถึง -6%
“ยอดส่งออกที่หดตัว มาจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศ เนื่องจากมีการล็อคดาวน์ ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปได้…ส่วนสถานการณ์ระลอกใหม่ คงต้องดูการบริหารจัดการว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเวลาที่รวดเร็วหรือไม่”
น.ส.กัณญภัค กล่าว
โดยปัจจัยบวกสำคัญในปี 2564 คือ สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่
- การกลับมาระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าทั่วโลกกลับมามีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และภายในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อกิจกรรมการผลิต จากการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และการหดตัวลงชองกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าทั่วโลก
- 1.1) การผลิตและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจนกว่าจะจัดสรรไปยังประเทศต่างๆ ในส่วนของไทยวัคซีนชุดแรกน่าจะมาถึงช่วงกลางปี 2564 หรือเร็วกว่านั้นเล็กน้อย ทั้งนี้ จะมีการเริ่มวัคซีนให้ในกลุ่มที่จำเป็นก่อน และอาจต้องใช้เวลาในการให้วัคซีนครอบคลุมคนส่วนใหญ่
- 1.2) แรงงานต่างด้าวขาดแคลน จากการระบาดในพื้นที่อุตสาหกรรมประมงแปรรูปขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต ค่อนข้างมาก รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงเวลานี้
- ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร เนื่องจาก
- 2.1) สายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation) กลับไปยังจีน และเวียดนามมาก เนื่องจากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย
- 2.2) การระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทาง และทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบโดยตรงให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งสายเรือมีการเรียกเก็บค่า Container Imbalance Charge ในบางเส้นทาง
- 2.3) ตู้สินค้าประเภท Reefer จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตู้สินค้าจากผลกระทบโควิด-19 ดังนั้นอาจมีการเก็บค่า Congestion Surcharge (CGD) เพิ่มเติมสำหรับสินค้า Reefer ไปยังท่าเรือบางแห่งในประเทศจีน และรวมถึงการงดรับจองระวางในบางเส้นทาง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนปลั๊กสำหรับตู้ควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น
- เงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มจับตาใกล้ชิด (Monitoring List) โดยเฉพาะประเด็นการเป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ขณะที่เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในบัญชี Currency manipulator ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ประเทศไทยและการอ่อนค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว
- ราคาน้ำมันที่อาจมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่กลับมารุนแรงอีกครั้งทั่วโลก ส่งผลต่ออุปสงค์ในการน้ำมันที่อาจชะลอตัวลงในการดำเนินกิจกรรมการผลิต การเดินทางระหว่างประเทศ และการชะลอตัวลงของการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
โดย สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้
- มาตรการเร่งด่วนภายใน 2 เดือน ได้แก่
- 1.1 มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ระบาดในรอบแรก อาทิ ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ปรับลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ รวมถึงขอให้ ธปท. เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ ธปท. เพิ่มบทบาทธนาคารรัฐในการอนุมัติสินเชื่อมาตรการ Soft loan ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนพรก. softloan ธปท.ได้มีต่ออายุมาตรการไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 18 เมษายน 2564 และการปรับปรุงกฎเกณฑ์บางส่วนในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs มากขึ้น
- 1.2 เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดย
- 1) เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์
- 2) ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย
- 3) มีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น
- 4) อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร
- 5) ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น
- มาตรการระยะยาว ได้แก่
- 2.1 มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ได้แก่
- 1) รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีแรงงานว่างงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
- 2) เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เช่น เร่งรัดและส่งเสริมการพัฒนาโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP), การพัฒนา National Single Window (NSW) ให้เป็น Single submission หรือระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว, การพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์สอดรับกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นปรับลดขั้นตอนในการติดต่อกับทางราชการ เช่น การออกใบรับรอง/ ใบอนุญาต ให้ใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่รับบริการ (Social distancing)
- 3) ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มวัย รูปแบบการค้า การผลิต การขาย การบริการ ลงทุน จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เรียกว่า New normal
- 2.2 เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์
- 2.1 มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ได้แก่
นอกจากนี้ ยังเสนอให้เร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อาทิ เร่งบังคับใช้ความตกลง RCEP ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งเจรจาความตกลงที่อยู่ใน Pipeline อาทิ Thai-UK / Thai-EU / EFTA / Pakistan / Turkey เป็นต้น
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. คาดว่า การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.63 มีแนวโน้มติดลบไม่มาก แม้จะประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ส่งผลให้การส่งออกในปี 63 จะหดตัวไม่เกิน -7% ซึ่งหากยอดส่งออกในเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 17,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกในปี 63 หดตัว -7% แต่หากยอดส่งออกสูงกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะช่วยให้การส่งออกในปี 63 ติดลบน้อยลง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าทั้งในแง่บวกและลบ แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อที่มีก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องมีมาตรการเรื่องการรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
ส่วนปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนกังวล เนื่องจากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นจะกระทบต่อการแข่งขัน ซึ่งภาครัฐควรต้องมีมาตรการดูแลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ ไม่เกิดความผันผวน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 ม.ค. 64)
Tags: กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์, วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา, ส่งออก, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สรท., เศรษฐกิจไทย