น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงข้อวิจารณ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันว่า สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงการจองห้องพัก ปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564
รวมทั้งกำหนดระบบการเลื่อนวันเข้าพักสำหรับประชาชนที่ได้จองโรงแรมที่พักเพื่อเข้าพัก ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป โดยธนาคารกรุงไทย (KTB) จะดำเนินการปรับปรุงระบบให้สอดรับกับการดำเนินการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยเร็วต่อไป
“ในระหว่างนี้ ประชาชนที่ได้จองโรงแรมที่พัก เพื่อเข้าพักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่มีความประสงค์จะเลื่อนการเข้าพักสามารถประสานโรงแรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยโรงแรมสามารถรับเรื่องไว้ได้ก่อน และขอให้โรงแรมดำเนินการแจ้งการเลื่อนในระบบต่อไป”
น.ส.กุลยา กล่าว
โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 มีการใช้สิทธิจองห้องพักผ่านโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 5,106,470 สิทธิ (จากทั้งหมด 6 ล้านสิทธิ) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,634 ล้านบาท โดยเป็นการจองผ่านโรงแรมทั้งหมด 5,274 แห่ง รวมถึงมีการใช้จ่ายผ่าน E – Voucher ประมาณ 5,711.6 ล้านบาท และมูลค่าบัตรโดยสารเครื่องบินประมาณ 1,001.87 ล้านบาท โดยรวมแล้วมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ แล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ตั้งแต่โครงการฯ ได้เปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 มาจนถึงปัจจุบัน มีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7.3 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,514 แห่ง ร้านอาหาร 67,527 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยว 2,098 แห่ง ร้าน OTOP 1,383 แห่ง และสปาหรือร้านนวดเพื่อสุขภาพและบริการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว 204 แห่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 64)
Tags: KTB, การท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กุลยา ตันติเตมิท, ททท., ธนาคารกรุงไทย, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เราเที่ยวด้วยกัน, โรงแรม