บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ในปี 2562 เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจนบนเวทีโลก เรามาดูกันว่า “หญิงแกร่ง” ที่ผงาดขึ้นมามีใครกันบ้าง
“เกรต้า ธันเบิร์ก” บุคคลแห่งปีที่อายุน้อยที่สุดของนิตยสารไทม์
เกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยชาวสวีเดนวัย 16 ปี สร้างกระแสโด่งดังไปทั่วโลกด้วยการรณรงค์ให้ทุกคนหันมาต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หลังจากที่เธอได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่ออายุราว 8 ขวบ ในวันที่ 20 ส.ค. 2561 ธันเบิร์กตัดสินใจไม่เข้าชั้นเรียนและไปนั่งอยู่หน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมกับชูป้ายแผ่นไม้ที่เขียนด้วยลายมือตนเองว่า “ไม่เรียนหนังสือเพื่อประท้วงโลกร้อน” เธอหยุดเรียนหนังสือติดต่อกัน 3 สัปดาห์จนถึงวันที่ 9 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งของสวีเดน ที่หน้ารัฐสภาก็มีเด็กนักเรียนมาร่วมการประท้วงกับเธอเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นเธอตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือ แต่ยังคงทำการประท้วงต่อไปด้วยการหยุดเรียนทุกวันศุกร์ พร้อมสร้างแฮชแท็ก #Fridaysforfuture และตั้งเว็บไซต์ Fridays for Future เพื่อรายงานกิจกรรมการประท้วง และจับตาดูว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมีการผลักดันนโยบายลดโลกร้อนอย่างจริงจังหรือไม่
ธันเบิร์กได้รับเชิญให้ไปพูดในงานสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ Ted Talk ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, งาน EESC ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และที่รัฐสภายุโรปในเมืองสตาร์บูร์กส์ ประเทศฝรั่งเศส เธอโด่งดังเป็นพลุแตกเมื่อเดือนก.ย. จากการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ณ องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์อย่างท้าทายว่า “ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลายลง เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดมีแต่เรื่องเงิน และเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด พวกคุณกล้าดียังไง!”
ท่าทีและคำพูดที่ดูก้าวร้าวของธันเบิร์กก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ก็ทำให้เธอได้รับรางวัลมากมายเช่นกัน อาทิ Ambassador of Conscience Award จากองค์การนิรโทษกรรมสากล รวมถึง Right Livelihood Award หรือรางวัลโนเบลทางเลือก (Alternative Nobel Prize) และที่เรียกเสียงฮือฮาที่สุดคือ การคว้าตำแหน่งบุคคลแห่งปีอายุน้อยที่สุดของนิตยสารไทม์ไปครอง รวมถึงตำแหน่งสตรีทรงอิทธิพลอายุน้อยที่สุดของนิตยสารฟอร์บส์
“อังเกลา แมร์เคิล” สตรีทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลก 9 ปีซ้อน
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของเยอรมนี วัย 65 ปี ครองบัลลังก์สตรีทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกจากนิตยสารฟอร์บส์เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน จากบทบาทผู้นำคนสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองและเศรษฐกิจไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับผู้อพยพนับล้านเข้าประเทศ ไปจนถึงการฝ่าฟันวิฤตการเงิน เศรษฐกิจ และการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
อิทธิพลของนางแมร์เคิลบนเวทีโลกการันตีได้จากการคว้าตำแหน่งสตรีทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกจากนิตยสารฟอร์บส์รวม 13 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2549 หรือหนึ่งปีหลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยอรมนี เธอเสียตำแหน่งไปเพียงครั้งเดียวในปี 2553 ให้กับมิเชล โอบามา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา นอกจากนี้ ในปี 2558 นางแมร์เคิลยังเป็นสตรีคนแรกในรอบ 29 ปีที่คว้าตำแหน่งบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ โดยในครั้งนั้นเธอได้รับการยกย่องจากความสามารถในการรับมือกับปัญหาหนี้สินของกรีซ วิกฤตผู้อพยพหลั่งไหลสู่ยุโรป และการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
เมื่อช่วงปลายปี 2561 นางแมร์เคิลประกาศก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) หลังจากรั้งตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2543 หรือเกือบ 20 ปี พร้อมกับเตรียมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อครบวาระในปี 2564 หลังจากดำรงตำแหน่งมานานถึง 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2548
“คริสติน ลาการ์ด” ประธานหญิงคนแรกของธนาคารกลางยุโรป
นางคริสติน ลาการ์ด วัย 63 ปี ผู้ที่นิตยสารฟอร์บส์ยกให้เป็นสตรีทรงอิทธิพลอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ คือผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเธอเข้ามาทำหน้าที่ต่อจากนายมาริโอ ดรากี เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความท้าทายต่างๆนานามากมาย ทั้งการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
นางลาการ์ดมีบทบาทและประสบการณ์มากมายในฐานะนักกฎหมายและนักการเมือง โดยก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมือง เธอเป็นนักกฎหมายที่เบเกอร์ แอนด์ แมคเคนซี ในปี 2524 โดยดูแลเกี่ยวกับคดีใหญ่ ๆ ด้านแรงงานและคดีที่เกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาด จนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นพาร์ทเนอร์และผู้บริหารของบริษัทสาขาในยุโรปตะวันตก หลังจากนั้นจึงขึ้นมาทำหน้าที่คณะกรรมการบริหาร และได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานบริษัท ซึ่งถือเป็นประธานหญิงคนแรก
เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมือง เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ฝรั่งเศสในปี 2548-2550, รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและประมงในปี 2550 และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรมในปี 2550-2554 สำหรับก้าวที่ยิ่งใหญ่ในอาชีพของเธอเกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อเธอได้ประกาศชิงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่อจากนายโดมินิค สเตราส์ คาห์น ก่อนที่จะคว้าชัยและก้าวขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของ IMF ได้สำเร็จ ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องถึงสองสมัย แต่เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เธอได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หลังจากมีความชัดเจนว่าเธอได้รับการเสนอชื่อเป็นประธาน ECB คนใหม่ ซึ่งมีอำนาจกุมทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือ ยูโรโซน
“เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานหญิงคนแรกของคณะกรรมาธิการยุโรป
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน วัย 61 ปี ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์ยกให้เป็นสตรีทรงอิทธิพลอันดับ 4 ของโลกในปีนี้ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของยุโรปในฐานะผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ต่อจากนายฌอง คล้อด ยุงเกอร์ โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เธอจะเป็นผู้นำในการเสนอกฎหมายใหม่ ๆ รวมถึงการกำหนดนโยบาย วางแผนงบประมาณ และเจรจาต่อรองด้านการค้ากับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
นางเลเยนเกิดและเติบโตในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เธอสำเร็จการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์และหันมาศึกษาต่อด้านเวชศาสตร์ หลังจากนั้นจึงทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ และจบแพทยศาสตร์บัณฑิต ก่อนผันตัวเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ของเยอรมนีเมื่อปี 2533 โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภาของแคว้นแซกโซนี ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2548 นางเลเยนได้รับการวางตัวจากนางอังเกลา แมร์เคิล ให้ดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมและครอบครัวในคณะรัฐมนตรีเงา และก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีฝ่ายกิจการครอบครัวและเยาวชนในยุครัฐบาลแมร์เคิลปี 2548 จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมในช่วงปี 2548-2552 ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในปี 2556 นับเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกของเยอรมนี
“คริสตาลินา จอร์จีวา” ผู้บริหารสูงสุดหญิงคนที่สองของ IMF
นางคริสตาลินา จอร์จีวา นักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรียวัย 66 ปี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารโลก ติดโผสตรีทรงอิทธิพลของนิตยสารฟอร์บส์เป็นครั้งแรกในปีนี้ในอันดับที่ 15 หลังจากเธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนต.ค. โดยเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ IMF ต่อจากนางคริสติน ลาการ์ด และเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF คนแรกที่มาจากประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา
นางจอร์จีวาสำเร็จการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ เธอเข้าทำงานกับธนาคารโลกในปี 2536 ในตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ได้แก่ ผู้อำนวยการประจำประเทศรัสเซียในช่วงปี 2547-2550, ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในช่วงปี 2550-2551, รองประธานและเลขาธิการในช่วงปี 2551-2553 ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารโลกในปี 2560 นอกจากนี้ เธอยังเป็นรองประธานฝ่ายงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์ของสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงปี 2557-2559
นางจอร์จีวากล่าวว่า พันธกิจแรกของเธอคือการเรียกคืนความเชื่อมั่นที่ทั่วโลกมีต่อความชอบธรรมและความโปร่งใสของ IMF รวมถึงการเพิ่มความช่วยเหลือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีความเป็นเอกภาพเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอันเป็นผลมาจากสงครามการค้า โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2562 จะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551-2552
“แคร์รี ลัม” ฝ่าวิกฤตการเมืองฮ่องกง
นางแคร์รี ลัม วัย 62 ปี ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงคนแรกของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีการส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีนพอดี แต่การขึ้นดำรงตำแหน่งของเธอเต็มไปด้วยความกังขาของชาวฮ่องกง เนื่องจากเธอได้รับเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยสมาชิกที่ภักดีกับจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่ประชาชนไม่มีสิทธิออกเสียงโดยตรง นอกจากนี้ นางลัมยังเป็นรองผู้บริหารในยุครัฐบาลนายเหลียง เจิ้น อิง ซึ่งเป็นยุคที่เกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “การปฏิวัติร่ม” โดยนางลัมมีบทบาทในฐานะตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจาและดีเบตกับผู้ชุมนุม
กลางปี 2562 สถานะผู้นำของนางลัมสั่นคลอนอย่างหนัก เมื่อชาวฮ่องกงออกมาประท้วงร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ลุกลามกลายเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกับกดดันให้นางลัมลาออก มีข่าวว่ารัฐบาลจีนวางแผนปลดนางลัมออกจากตำแหน่ง เนื่องจากคณะทำงานของเธอไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงที่เกิดขึ้นนานหลายเดือนได้ แต่นางลัมออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่ารัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนเธอ จนถึงขณะนี้การประท้วงในฮ่องกงยืดเยื้อมานานหลายเดือนและทวีความรุนแรงขึ้น แต่นางลัมยังคงรั้งเก้าอี้ผู้นำไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยืนยันว่า รัฐบาลจีนยังคงให้การสนับสนุนนางลัมในการเป็นผู้นำรัฐบาลฮ่องกงต่อไป
In Focus หวังว่า “หญิงแกร่ง” ทุกท่านจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองและบรรลุผลสำเร็จในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 62)