การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา สะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานรัฐบาลโดยปราศจากอคติ พร้อมมีมติตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และวาทะแห่งปีประจำปี 2563 ร่วมกันดังนี้
- ฉายาของรัฐบาล : VERY “กู้”
เปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาลที่ต้องกอบกู้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม ขณะเดียวกันผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องคนไทยที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และภาวะตกงานบางคนต้องจากโลกนี้ไปด้วยไม่อาจรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์มาบรรเทาปัญหา
- ฉายาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม : ตู่ไม่รู้ล้ม
ล้อมาจากคำว่า “โด่ไม่รู้ล้ม” ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ว่าจะประสบปัญหาอุปสรรคการเมือง หรือชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
- ฉายาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี : ป้อมไม่รู้โรย
ล้อมาจากคำว่า “บานไม่รู้โรย” ด้วยภาพลักษณ์ของพี่ใหญ่ 3 ป. ในวัย 75 ปี ยังคงทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีเคียงข้างน้องๆ ได้ แถมยังแผ่บารมีควบเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล เหมือนกับดอกไม้ แม้จะบานนานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้โรย ประกอบกับวลีติดปากที่มักจะตอบคำถามสื่อมวลชน แทบทุกครั้งว่า ไม่รู้ๆ อยู่เสมอ
- ฉายาของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี : ไฮเตอร์ เซอร์วิส
ยกคุณสมบัติเด่นของนายวิษณุที่สามารถหาทางออก ปัญหาหนักอกของคนในรัฐบาล โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ และมักถูกวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ซักฟอกขาวยี่ห้อดัง ที่สามารถล้างคราบสกปรก ให้ขาวสะอาดหมดจดได้ แต่อาจทำให้เนื้อผ้าเสียหาย ขาดความสวยงาม คล้ายกับชื่อเสียงของรัฐบาลที่สึกกร่อนตามไปด้วย
- ฉายาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข : ทินเนอร์
ด้วยชื่อ อนุทิน ซึ่งพ้องกับสาระเหยที่มีทั้งคุณและโทษ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากสูดเดาเข้าไปมาก อาจทำลายระบบประสาท กระทบกระเทือนความรู้สึกนึกคิด คล้ายพฤติกรรมการใช้คำพูดที่ขาดความยั้งคิด ส่งผลลบต่อตัวเอง และ รัฐบาลโดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ จนเป็นประเด็นลดความน่าเชื่อถือของตนเอง เช่น โควิด..กระจอก ไล่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับประเทศ หรือตอบโต้กับบุคลากรทางการแพทย์ จนเกิดกระแสต่อต้านหลายครั้ง
- ฉายาของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ : เช้าสายบ่ายเคลม
สะท้อนการทำงานที่เห็นได้บ่อยครั้งว่ามักไม่ตรงต่อเวลา เข้าร่วมประชุมสายสม่ำเสมอ ส่วนในแง่การทำงานมักนิ่งเงียบเมื่อมีประเด็นที่ส่งผลลบต่อตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ แต่หากเป็นเรื่องที่เป็นผลดีต่อคะแนนนิยมก็จะรีบเคลมผลงานดังกล่าวทันที
- ฉายาของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คลัง : ค้างคลัง
ยังคงไปไม่ถึงดวงดาว โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เปลี่ยนตัวว่าการไปถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังเป็นคนนอกสายตา ถูกรั้งให้อยู่ได้แค่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น ทั้งที่ทุ่มเทให้กับพรรคอย่างมาก อีกทั้งยังออกตัวแรง แสดงออกชัดเจนว่า “พร้อมมาก” ที่จะทำหน้าที่นี้ก็ตาม
- ฉายาของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม : ศักดิ์สบายสายเขียว
ลือลั่นมากกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวและอีกหลายโครงการที่ขัดแย้งกับหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนเกื้อกูลอย่างดีจากนายกรัฐมนตรี โดยระยะหลังเรียกได้ว่า “ขึ้นหม้อ” ตามติดนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด ส่วนการทำงานในพรรคภูมิใจไทยก็อยู่อย่างไร้ความกังวล เพราะมีพี่ชายที่ชื่อ เนวิน ชิดชอบ คอยดูแลปัดเป่าทุกข์ภัยต่างๆ ให้
- ฉายาของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม : พังPORN
สะท้อนการทำงานที่ล้มเหลวในฐานะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานด้านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ถูกนำมาใช้โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก แม้จะเปิดศูนย์ anti-fake news แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และล่าสุดเกิดดราม่า หลังสั่งปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ปลุกใจเสือป่าชื่อดัง จนเกิดกระแสต่อต้านลุกลามบานปลาย
- ฉายาของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ : หวีดดับ
ภาพลักษณ์แกนนำ กปปส. ยังคงเป็นภาพจำ ที่ไม่อาจลบเลือนได้ เช่นเดียวกับนกหวีดที่ถูกยกมาใช้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเปรย ได้กำกับดูแลงานกระทรวงเกรดเอ แต่กลับไม่มีผลงานโดดเด่นปรากฎให้เห็น มีเพียงข่าวกระแสต่อต้านรายวัน หนักหน่วงที่สุด คือ ถูกกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมตัวขับไล่
- ฉายาของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.แรงงาน : แชมป์ไตรกีฬา
ไตรกีฬา ประกอบด้วย กีฬา 3 ชนิด คือ วิ่ง วายน้ำ และ ปั่นจักรยาน สะท้อนภาพลักษณ์ได้ครบถ้วนชัดเจน ในบุคลิกที่สื่อมวลชนประจักษ์ ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรี และเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ที่มีทั้งการวิ่งเต้น การเข้าหาผู้ใหญ่ และการปลุกปั่นกระแส แม้จะถูกกล่าวหาว่า ลืมบุญคุณผู้ชักนำเข้าสู่การเมือง แต่ก็ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ เดินหน้าจนสามารถคว้าตำแหน่งที่ต้องการได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นนักการเมือง และ สส.สมัยแรกเท่านั้น
- วาทะแห่งปี
“ไม่ออก…แล้วผมทำผิดอะไรหรือ”
เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตอบข้อสักถามสื่อมวลชน พร้อมกับบรรดาคณะรัฐมนตรีที่ยืนเรียงหน้าประกาศความเหนียวแน่น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 63)
Tags: การเมือง, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ฉายารัฐบาล, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, วิษณุ เครืองาม, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สันติ พร้อมพัฒน์, อนุทิน ชาญวีรกูล