นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council : AWC) เปิดเผยในโอกาสเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ Board of Council of AWC ครั้งที่ 12 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) โดยประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ เช่น ประเทศมองโกเลีย อุซเบกิสถาน จีน อินโดนิเซีย กัมพูชา เป็นต้น
ว่า ที่ประชุมรับทราบและพิจารณาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การรายงานผลการดำเนินงานในปี 2563 และแผนการดำเนินงานในปีหน้าของ AWC การกำหนดวันจัดงานการประชุมสัปดาห์น้ำแห่งเอเชีย ครั้งที่ 2 ในปี 2564 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และที่สำคัญ คือการหารือระดับประเทศด้านน้ำในประเทศไทย (National Dialogue on Water in Thailand) ที่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรสำคัญ ได้แก่ กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (MoE) สภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) และองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่เป็นความร่วมมือในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายว่าด้วยเรื่องน้ำในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย และส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติระหว่างประเทศที่ดี ซึ่งทั้ง 3 องค์กรมีข้อเสนอที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการจัดการหารือระดับประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักในการหารือเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาความท้าทายในการปฏิรูปด้านน้ำ
สำหรับประเด็นการหารือมีขอบเขตในสองหัวข้อหลัก ได้แก่
- การบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ ซึ่งจะรวมถึงการมุ่งเน้นในเรื่องของการออกแบบเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ค่าน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีส่วนช่วยในการออกแบบระบบการจัดสรรน้ำในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ดีขึ้น และ
- มาตรการและกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดการน้ำและสุขาภิบาล ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี และภาษีสำหรับบริการน้ำประปาและสุขาภิบาล โดยการประสานกับระดับนโยบายและสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสาธารณูปโภคและกฎระเบียบทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก สทนช. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ของไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของนโยบาย สถาบัน การเงิน และความท้าทายด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความมั่นคงของน้ำและการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ EEC ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และประสบปัญหาสำคัญในเรื่องของความมั่นคงด้านน้ำและความต้องการน้ำ อีกทั้งสองประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่ MoE AWC และ OECD มีความสนใจที่จะสนับสนุนในการให้ความรู้ การวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วย โดย สทนช. จะเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อรับทราบในการประชุมวันที่ 28 ธันวาคม นี้
“การหารือจะสนับสนุนการปรับปรุงนโยบายด้านน้ำที่สำคัญตามวาระที่ประเทศไทยได้ดำเนินการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 เป็นต้น และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยมีกำหนดการหารือครั้งแรกในปี พ.ศ. 2564 มีระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวสามารถพัฒนาครอบคลุมถึงประเทศในแถบเอเชียอื่น ๆ ภายในกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี (ปี 2563 – 2568) โดยขั้นตอนในการดำเนินงานจะเริ่มตั้งแต่การรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและงานศึกษาวิจัยอื่น ๆ ที่มีการเผยแพร่จากหน่วยงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หน่วยงานเพื่อการพัฒนา และสถาบันการศึกษา ฯลฯ และร่วมหารือผ่านการประชุมคู่เจรจา การวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนถึงการสัมมนาเชิงนโยบายระดับประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นในประเทศไทย
เพื่อสำรวจและทดสอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น รวมถึงโอกาสในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และรวบรวมข้อคิดเห็น โดยการสัมมนาเชิงนโยบายนี้นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ ก่อนแบ่งปันรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ได้ให้กับผู้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ซึ่งผลการศึกษาที่ได้รับจะสามารถนำมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่อไป”
เลขาธิการ สทนช. กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม AWC ครั้งนี้ ประเทศไทยยังได้แสดงความชื่นชมต่อบทบาทของ AWC ในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนให้ AWC พิจารณาแนวทาง วิธีการ และการนำเสนอเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการปฏิบัติจริงผ่านมุมมองพันธสัญญาของประชาคมโลก ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ดำเนินการจัดหาน้ำสะอาดทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะมีน้ำดื่มที่ปลอดภัย อันจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและความเจ็บป่วย โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อให้แน่ใจว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับทุกคน และภายใต้สถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการเดินทางนี้ ประเทศไทยจะยังคงมีส่วนร่วมในการประชุมด้านน้ำที่สำคัญอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์ทางอ้อมในแง่ของการประหยัดงบประมาณด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 63)
Tags: AWC, การประชุมคณะกรรมการบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย, บริหารจัดการน้ำ, สทนช., สภาน้ำแห่งเอเชีย, สมเกียรติ ประจำวงษ์, เอเชีย