นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ยังคงเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเสี่ยงกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ อย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ โดยหากเล็ดลอดเข้าไปในกระแสเลือดอาจจะอันตรายถึงชีวิต ซึ่งมีพิษร้ายเทียบเท่าควันบุหรี่ โดยเฉพาะช่วงอากาศปิด ค่าฝุ่นจะยิ่งทวีคูณสูงขึ้น
ล่าสุดจากรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น. พบค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงมากกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรืออยู่ในระดับ 5 (สีแดง) ซึ่งถือเป็นคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นนั้นยังคงเป็นปัญหาเดิม โดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันดีเซล รวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง จากแหล่งกำเนิดในสถานที่ต่างๆ
ดังนั้นเพื่อให้ PM 2.5 ภัยพิบัติระดับชาติได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยที่ยั่งยืนในระยะยาว สภาวิศวกรจึงแนะ 3 ทางออกไว้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ภาครัฐต้องยกระดับปัญหาฝุ่นเป็นภัยพิบัติของประเทศ ในทางด้านกฎหมาย ผ่านการเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ ยกระดับมาตรฐานรถยูโร 4 สู่มาตรฐาน EURO 5-6 ปรับค่ามาตรฐานน้ำมันเพื่อสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ EURO 5-6 ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานไฟฟ้า รวมถึงจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านงานวิจัย ควรลงทุนงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ เช่น ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจาก สจล. เครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กจาก สวทช. ฯลฯ และด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ ที่เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากปัจจุบัน 2-3 ตร.ม.ต่อคน เพิ่มเป็นอย่างน้อย 9-10 ตร.ม.ต่อคน
ขณะที่ภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือในการแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่นผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ และภาคประชาชน ควรตระหนักถึงผลกระทบถึงฝุ่น PM 2.5 ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงถึงชีวิตของทั้งตนเอง รวมถึงบุคคลในครอบครัว ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนอยู่เสมอ พร้อมทั้งเลือกสรรนวัตกรรมป้องกันฝุ่น หรือติดตามการรายงานผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ เกษตรกรควรงดเว้นการเผาในที่โล่งแจ้งอีกด้วย เพื่อลดการเกิดฝุ่นสะสม
สำหรับป้ายรถเมล์อัจฉริยะ นวัตกรรมตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์ที่พัฒนาโดย SCiRA สจล. ที่มาพร้อมความสามารถในการตรวจจับปริมาณฝุ่น สั่งการพัดลมโคจรติดเพดานช่วยระบายฝุ่น พร้อมแสดงผลปริมาณฝุ่นและเฉดสีผ่านจอมอนิเตอร์ โดยความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการพัฒนาและดำเนินการติดตั้งใน 9 พื้นที่เสี่ยงที่พบปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่น ได้แก่ บางซื่อ บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ดินแดง พระโขนง ภาษีเจริญ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางคอแหลม เพื่อเป็นการบรรเทาฝุ่นและสร้างการเข้าถึงข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์ในภาคประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 63)
Tags: PM2.5, ควันดำ, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละออง, ภาษี, รถยนต์, สภาวิศวกร, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์