นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญของความตกลง RCEP และนำความตกลง RCEP ฉบับสมบูรณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dtn.go.th ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย โดยผู้ที่ต้องการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP สามารถสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรในแต่ละรายการสินค้าที่สมาชิก RCEP จัดเก็บระหว่างกันได้
สำหรับการสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศสมาชิก RCEP จะเก็บระหว่างกัน แบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
1) กรณีการนำสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP เข้ามาไทย ส่วนใหญ่อัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสมาชิก RCEP จะเหมือนกัน ยกเว้นบางรายการสินค้าที่ไทยระบุไว้ว่าไม่ผูกพันลดภาษีให้กับประเทศใด ในกรณีนี้ ไทยจะเก็บภาษีในอัตราทั่วไป เท่ากับที่เก็บกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
2) กรณีการส่งออกสินค้าจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP จีนและเกาหลีใต้ได้จัดทำตารางข้อผูกพันภาษีศุลกากรสำหรับที่ลดให้กับอาเซียน และที่ลดให้กับประเทศสมาชิก RCEP อื่นที่ไม่ใช่อาเซียน โดยสามารถตรวจสอบอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศจัดเก็บกับสินค้าจากไทยในแต่ละปีได้ ในส่วนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ผูกพันที่จะลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสมาชิก RCEP เหมือนกัน จึงมีตารางข้อผูกพันทางภาษีตารางเดียว สำหรับญี่ปุ่น แม้จะได้จัดทำตารางข้อผูกพันทางภาษีชุดเดียว แต่ในบางรายการสินค้า ญี่ปุ่นได้ลดภาษีที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิก RCEP จึงได้มีการระบุอัตราภาษีที่แตกต่างกันในระหว่างสมาชิกไว้
แม้ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับทุกประเทศสมาชิก RCEP แยกออกจากกรอบอาเซียน แต่ความตกลง RCEP ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ โดยเฉพาะโอกาสเข้าสู่ตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าจากไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากจีน อาทิ พริกไทย สับปะรดกระป๋อง น้ำสัปปะรด น้ำมะพร้าว จากญี่ปุ่น อาทิ ผักแปรรูป (มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง) แป้งสาคู ผลไม้สด/แห้ง/แช่แข็ง (ส้ม สับปะรด) น้ำมันถั่วเหลือง สินค้าประมง น้ำส้ม น้ำผลไม้ผสม และเกาหลีใต้ อาทิ ผลไม้สดหรือแห้ง (มังคุด ทุเรียน) ข้าวโพดหวานแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันรำข้าว สับปะรดแปรรูป น้ำสับปะรด และสินค้าประมง
นางอรมน กล่าวว่า การที่ความตกลง RCEP กำหนดให้สมาชิกใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันทั้ง 15 ประเทศ จากเดิมที่กฎถิ่นกำเนิดสินค้าจะแตกต่างกันไปตาม FTA ซึ่งช่วยให้การสะสมถิ่นกำเนิดทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยสู่ห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ยังมีความยืดหยุ่นขึ้น จึงเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ผลิตไทยสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายทั้งจากในและนอกภูมิภาค RCEP เช่น ในอาหารปรุงแต่ง (พิกัด 16) สามารถใช้แหล่งวัตถุดิบจากในและนอกประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งง่ายกว่าความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดแหล่งวัตถุดิบต้องมาจากประเทศภาคีของความตกลงเท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 63)
Tags: RCEP, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, ภาษีศุลกากร, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม, อัตราภาษีศุลกากร