ปิดฉากไปแล้วกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อนำมาให้บริการ 5G ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
สำหรับโอเปอเรเตอร์เจ้าเดิมและเจ้าใหม่เข้ามาแข่งขันกันอย่างสนุก เพราะมี 2 รัฐวิสาหกิจอย่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) และบมจ.ทีโอที (TOT) เข้าร่วมด้วย สุดท้ายจบการประมูลคิดเป็นวงเงินที่สร้างรายได้เข้ารัฐเป็นค่าใบอนุญาตสูงถึง 100,521 ล้านบาท แบ่งเป็น คลื่น 700 MHz วงเงินรวม 51,460 ล้านบาท ตามด้วย 2600 MHz วงเงินรวม 37,433.89 ล้านบาท และ 26 GHz วงเงินรวม 11,627.29 ล้านบาท
สำหรับเทคโนโลยีคลื่นความถี่ 5G จะดีกว่า 4G หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ศ.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์ รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย อธิบายความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยี 4G และ 5G ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ความหน่วง (Latency) ปัจจุบัน 4G มีความหน่วงเฉลี่ยอยู่ที่ 30-50 millisecond (1 ต่อ 1,000 วินาที) แต่ถ้าเป็น 5G ความหน่วงลดลงเหลือแค่ไม่ถึง 1 millisecond เป็นสิ่งสำคัญมากเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระหว่างกันไม่เกิดความช้า กระตุก เรียกว่าทั่วไปว่า lag
หากความหน่วงระหว่างต้นทางกับปลายทางน้อยจะช่วยเพิ่มความเสถียรในอุปกรณ์ที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือสูง อาทิ Telemedicine เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยตอบโต้กับบุคลากรทางการแพทย์กันได้แบบ Real-time หรือนำมาประยุกต์ใช้ช่วยผ่าตัดทางไกล ด้วยระบบคอมพิวเตอร์หุ่นยนต์และการผ่าตัดผ่านกล้อง และใช้ควบคุมระบบขนส่งรถยนต์ อาทิ รถยนต์ไร้คนขับที่ต้องอาศัยความปลอดภัยสูง เป็นต้น
2.ความเร็วสูงขึ้น เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานทั่วไป อาทิ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตด้วยเทคโลโลยี 5G สามารถรองรับกับการใช้บริการจำนวนมากด้วยความเร็วสูง ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวคือการโหลดภาพยนต์เป็น Full HD แค่หลักวินาที จากเดิมต้องใช้เวลาหลายนาทีหรือบางครั้งเป็นชั่วโมง และอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกระดับขึ้น อย่าง ธุรกิจสื่อ การรายงานถ่ายทอดสดมีความเสถียรมากขึ้น
3.ยกระดับเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ซึ่ง 5G ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกเสมือนกลายเป็นที่น่าจับตามองนำมาประยุกต์ใช้งานในโลกธุรกิจ มีโอกาสอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเสี่ยงได้รับผลกระทบด้านลบเช่นกัน
4.เทคโนโลยี 5G เข้ามารองรับการใช้งานอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ได้ครอบคลุมมากขึ้น อาทิ เก็บข้อมูลและเชื่อมต่อได้หลายอุปกรณ์ในเวลาพร้อมกัน เนื่องจากเทคโนโลยี 4G ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้ประมาณ 10,000 อุปกรณ์
แต่เทคโนโลยี 5G สามารถเชื่อมต่อได้ถึง 1,000,000 อุปกรณ์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตของเครื่องจักร, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อความต้องการของประชาชนกับระบบงานบริการของทางภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และ Smart home เชื่อมโยงอุปกรณ์ที่สำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้าน เป็นต้น
5.เทคโนโนยี 5G สามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่บนอุปกรณ์ที่มีความเร็วสูงระดับ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ จากปัจจุบัน 4G บนอุปกรณ์ที่มีความเร็วสูงระดับ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้อยู่ในรถไฟความเร็วสูงสามารถใช้งานได้ตามปกติ
“คลื่นความถี่ 5G ถ้าหากเริ่มใช้งานจริง มีโอกาสสร้างกระทบและสร้างประโยชน์ให้กับหลายอุตสาหกรรม เพราะ 5G จะถูกนำมาเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ อุปกรณ์ IoT ,ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robot) ดังนั้นภาคธุรกิจต่างๆต้องปรับตัวไปสู่เรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย”
ศ.ดร.วิเชียร กล่าว
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.63 สำนักข่าว “อินโฟเควสท์” รายงานผลการประมูลคลื่นความถี่ 5G ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz มี 3 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ปรากฎว่า บมจ.กสท โทรคมนาคม ประมูลได้ 2 ใบอนุญาต รวมราคา 34,306 ล้านบาท
- ประมูล 5G ค่าย ADVANC จ่ายสูงสุด 4.2 หมื่นลบ. TRUE จ่าย 2.1 หมื่นลบ.
- ADVANC ชนะประมูล 5G ครบทั้ง 3 คลื่นคว้าใบอนุญาตสูงสุด
- ทรีนีตี้ คงน้ำหนักกลุ่ม ICT หลังประมูล 5G เท่ากับตลาด
และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) ประมูลได้ 1 ใบ ด้วยราคา 17,154 ล้านบาท/ใบ จาก ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท/ใบ
ส่วนบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)ในเครือบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประมูลไม่ได้ ทั้งนี้ รายได้ประมูลรวม 51,460 ล้านบาท
คลื่น 2600 MHz ประมูลได้ทั้งหมดจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบละ 10 MHz ราคาประมูลได้รวม 37,433.89 ล้านบาท โดย ADVANC ประมูลได้ 10 ใบอนุญาต เป็นเงิน 19,561 ล้านบาท ได้คลื่นความถี่ในย่าน 2500-2600 MHz ขณะที่ TRUE ประมูลได้ 9 ใบอนุญาต เป็นเงิน 17,872.89 ล้านบาท (ราคาประมูล. 17,560 ล้านบาท ค่ากำหนดย่านความถี่ 268.89 ล้านบาท) ส่วน กสท.ประมูลไม่ได้
ส่วนคลื่น 26 GHz มีจำนวน 27 ใบอนุญาต ใบละ100 MHz ประมูลได้ 26 ใบอนุญาต รวมมูลค่าทั้งหมด 11,627.29 ล้านบาท ผู้ที่ประมูลได้ ได้แก่ ADVANC ได้ 12 ใบอนุญาต ราคารวม 5,345 ล้านบาท TRUE ประมูลได้ 8 ใบอนุญาต ราคารวม 3,576.89 ล้านบาท ทีโอที ประมูลได้ 4 ใบอนุญาต รวม 1,795 ล้านบาท และ DTAC ประมูลได้ 2 ใบอนุญาต รวม 910 ล้านบาท
ทั้งนี้ ADVANC ประมูลคลื่นได้มากที่สุด 23 ใบอนุญาต ใน 3 คลื่นความถี่ (700MHz,2600MHz,26GHz) รวมราคา 42,066 ล้านบาท TRUE ประมูลคลื่นได้ 17 ใบอนุญาต 2 คลื่นความถี่ (2600MHz ,26GHz ) รวมราคา 21,449.78 ล้านบาท DTAC ประมูลได้คลื่น 26 GHz 2 ใบอนุญาต รวมราคา 910 ล้านบาท บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้ 2 ใบอนุญาต คลื่น 700 MHz รวมราคา 34,306 ล้านบาท และ ทีโอที ประมูลได้ 4 ใบอนุญาต คลื่น 26 GHz รวมราคา 1,795 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 63)
Tags: 5G, กสทช, ค่ายมือถือ, หุ้นมือถือ, หุ้นสื่อสาร, โทรคมนาคม