
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ปี 2567 โดยระบุว่า ระบบการเงินไทยโดยรวม มีเสถียรภาพ สามารถสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงการลดหนี้ ที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตา 4 ความเสี่ยงสำคัญ ที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของไทยในระยะข้างหน้า
ระบบการเงินไทยโดยรวม มีเสถียรภาพ
ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ และสามารถสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง ภาคสถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็ง แม้ได้รับผลกระทบจากคุณภาพหนี้ที่ด้อยลง โดยธนาคารพาณิชย์ทยอยกันสำรองไว้แล้ว สะท้อนจากการมีอัตราส่วนการกันสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ในระดับสูง ด้านผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (NBRLs) แม้ได้รับผลกระทบและมีผลประกอบการอ่อนแอลง แต่ยังคงมีกำไรสุทธิเป็นบวก และยังมีกำไรสะสมเพื่อใช้รองรับการกันสำรอง (buffer) ในระดับสูงถึง 18.5% ของสินทรัพย์รวม ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพหนี้ที่ด้อยลง เนื่องจากสามารถตัดบัญชีเงินเดือน จึงยังรักษาระดับหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ไว้ที่ระดับใกล้เคียงในอดีต
นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนไทยปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงมาอยู่ที่ 88.4% ณ สิ้นปี 2567 อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จึงต้องติดตามพัฒนาการของหนี้ครัวเรือน และยังคงต้องมีมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ให้ครัวเรือนสามารถรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตได้
ภาพรวมเศรษฐกิจการเงินไทย
ภาวะการเงินในปี 2567 ตึงตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของสินเชื่อในระดับต่ำ การหดตัวของการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และการลดลงของมูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยสินเชื่อรวมของระบบสถาบันการเงิน (สง.) ขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน
– สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 2.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ลดลงจากที่เคยขยายตัวถึง 11.7% ในปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงในภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อีกส่วนหนึ่งจากการชำระคืนหนี้ที่เร่งกู้ยืมไปในช่วงวิกฤติ COVID-19 ขณะที่บางภาคธุรกิจเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง รายได้ฟื้นตัวช้า และได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าจีน จึงยังไม่มีความต้องการลงทุนเพิ่ม ประกอบกับสถาบันการเงิน ยังมีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น
– สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises: SMEs) หดตัว 3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น จากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า การเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้าจีน
– สินเชื่อรายย่อย ขยายตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัว 0.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี ทั้งจากครัวเรือนบางกลุ่มที่มีกำลังซื้ออ่อนแอตามรายได้ที่ฟื้นตัวช้า และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของธุรกิจยานยนต์ที่ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อหดตัว
– การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ภาคเอกชนหดตัว 2.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2567 ส่วนหนึ่งจากผู้ออกตราสารหนี้บางรายมีสภาพคล่องเหลือนำไปชำระหนี้ได้ อีกส่วนหนึ่งจากปัจจัยกดดันด้านการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการฟื้นตัวที่ช้าของบางภาคธุรกิจ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และปัญหาธรรมาภิบาลของบางบริษัท จึงทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกโดยบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A ขึ้นไป
– การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยการเสนอขายหุ้นออกใหม่ต่อประชาชน (initial public offering: IPO) ลดลง โดยในปี 2567 มีบริษัทเสนอขายหุ้น IPO ลดลงจาก 40 ราย ในปี 2566 มาอยู่ที่ 32 ราย มูลค่าเสนอขายลดลง 37% จากปี 2566 มาอยู่ที่ 28,745 ล้านบาท เนื่องจากดัชนีราคาหลักทรัพย์ปรับลดลงจากความเสี่ยงทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง
ในปี 2567 ไม่พบสัญญาณการเก็งกำไรในราคาสินทรัพย์ทางการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะ 10 ปี ปรับลดลง 39 basis points (bps) จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนกับพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (corporate bond spread) ปรับเพิ่มขึ้น
– ภาคอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ในปี 2567 เพิ่มขึ้นบ้างตามต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้นจากทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าก่อสร้างโดยเฉพาะต้นทุนค่าที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า สำหรับอุปสงค์โดยรวมของตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 66 แม้มีสัญญาณดีขึ้นบ้างในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งการหดตัวเป็นไปตามกำลังซื้อที่ลดลงของผู้ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน ขณะที่อุปสงค์ของชาวต่างชาติชะลอลงในกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญกับปัญหาอุปทานส่วนเกิน (oversupply) โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป
ฐานะการเงินของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ
– หนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจทยอยปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในกระบวนการปรับลดหนี้ (deleverage) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 88.4% ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2564 ที่ 95.5%
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวหนี้ครัวเรือนที่ลดลงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยภาระหนี้ในระดับที่เหมาะสม จะเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และยังทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ของครัวเรือน (income shock)
– หนี้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับลดลง ทั้งสินเชื่อและตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยสัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 83.5% ปรับลดลงจากสิ้นปี 2566 ที่ 86.8% จากการกู้ยืมที่ชะลอลงมากกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า และมีแนวโน้มปรับลดลง สวนทางกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets : EMs) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (advanced economies: AEs)
– ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและ SMEs มีแนวโน้มด้อยลง ซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่องตึงตัว โดยความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน อ่อนแอลงในทุกประเภทสินเชื่อ สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีที่ค้างชำระเกิน 30 วัน ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มลูกหนี้ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ ด้อยลงจากปีก่อน แม้สัดส่วน NPL (non-performing loan หรือ stage 3) จะเริ่มทรงตัว
– บริษัทประกันภัยโดยรวม มีฐานะการเงินและผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (capital adequacy ratio: CAR) ของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย อยู่ที่ 410% และ 269% ตามลำดับ สูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ระดับ 100% ทั้งนี้ ความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการประกันสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากราคา และความถี่ของการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการรับประกันภัยสูงขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประกันภัยให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (co-payment) ในการต่ออายุสัญญาประกันภัยสุขภาพตั้งแต่ 20 มี.ค.68 เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ลดพฤติกรรมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกินความจำเป็น และช่วยชะลอการปรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพไม่ให้เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป
ความเสี่ยงสำคัญในระยะข้างหน้า
แม้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะต่อไป ได้แก่
1. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีความเปราะบาง และอ่อนไหว ต่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงบางภาคธุรกิจที่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขัน การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมไปถึงดัชนีราคาหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET index) ที่ปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2566
ความเชื่อมั่นที่เปราะบางของนักลงทุน จะส่งผลให้เกิดการขายสินทรัพย์ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลง กระทบต่อฐานะของนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายย่อย รวมถึงส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดทุน และความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดอายุ (rollover risk) ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง
2. ภาวะการเงินที่อาจตึงตัวมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจากที่ในปี 2567 การระดมทุนผ่านตลาดทุนลดลงจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบาง ขณะที่สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินขยายตัวเพียง 0.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี อีกทั้งความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินยังมีความระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs ยังเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อเป็นทุนเดิม เนื่องจากประสบปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน และมีผลประกอบการอ่อนแอ ขาดข้อมูลประวัติทางการเงินและขาดหลักประกันที่เพียงพอในการพิจารณาสินเชื่อ
ทั้งนี้ การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ จะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการลงทุน การค้า และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาในไทยมากขึ้น (import flooding) และอาจทำให้ฐานะการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และสภาพคล่องของภาคธุรกิจและครัวเรือนด้อยลง นำไปสู่ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
3. บริษัทขนาดใหญ่บางรายมีการก่อหนี้ในระดับสูง เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ (highly leveraged large corporations: HLLCs) และมีระดับหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระดับหนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นการสะสมความเปราะบางต่อฐานะการเงินของบริษัทบางราย และทำให้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยง (negative shocks) ในอนาคตของบริษัทลดลง
ซึ่งหากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก จากนโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการชำระหนี้ของ HLLCs บางรายแก่เจ้าหนี้ ที่มีทั้งสถาบันการเงิน และผู้ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่มีทั้งนักลงทุนสถาบัน และบุคคลธรรมดา และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้ฝากเงิน และต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ หากความเชื่อมั่นลดลงเป็นวงกว้าง
4. ฐานะการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางราย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว หลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ชะลอตัวต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา อุปสงค์โดยรวมของตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน จากกำลังซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มี.ค.68 ยังส่งผลกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในกลุ่มอาคารชุด และความเชื่อมั่นต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้น โดยอาจทำให้การระบายอุปทานคงค้างในกลุ่มดังกล่าวทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (developer) บางราย ที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้วในช่วงก่อนหน้า อาจมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ดังนั้น จึงควรติดตามพัฒนาการของภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 68)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ระบบการเงิน, หนี้ครัวเรือน