
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมี.ค.68 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 29,548 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.8% สูงกว่าตลาดคาดที่ 10.7-13% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค.ในระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์นี้ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการขยายตัวที่ 17.8% นั้น ถือว่าสูงสุดในรอบ 36 เดือน (3 ปี)
ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 28,575 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า อยู่ที่ 973 ล้านดอลลาร์
สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.68) การส่งออกมีมูลค่ารวม 81,532 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 80,451 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.4% ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,081 ล้านดอลลาร์
*ส่งออกขยายตัวดีหนุน GDP Q1/68
รมว.พาณิชย์ เชื่อว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.68 ยังมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่อาจไม่ขยายตัวได้สูงถึงระดับ 2 digit พร้อมเชื่อมั่นว่า การส่งออกของไทยทั้งปีนี้ จะสามารถขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2-3%
“หากสถานการณ์ไม่ผันผวน เชื่อว่าการส่งออกจะยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ซึ่ง 3 เดือนแรก เห็นชัดแล้วว่าโตถึง 15.2% ขณะที่เดือนมี.ค. มูลค่าทะลุ 29,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าการส่งออกในไตรมาสแรกนี้ จะเป็นแรงที่ช่วยขับเคลื่อนให้ GDP ไตรมาส 1 ปีนี้ เติบโตได้ 3%”
รมว.พาณิชย์ ระบุ
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทย ได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป เนื่องจากประเทศคู่ค้าเหล่านี้ มีการเร่งตัวด้านการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้า เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
*แนวโน้มเม.ย.ยังขยายตัวเป็นบวก แม้มีผลกระทบนโยบายภาษีสหรัฐฯ
“การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลาดอื่น ๆ ด้วย แม้ในเดือนถัดไป (เม.ย.) อาจมีผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นว่า การส่งออกยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ไม่ถึงขนาดติดลบ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีการลงทุนเข้ามามาก ซึ่งมีผลดีต่อการส่งออก”
นายพิชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ (25 เม.ย.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “ถอดรหัสนโยบายภาษีทรัมป์ โอกาสสู่การค้ายุคใหม่” เพื่อวิเคราะห์โอกาสของไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจเป็นโอกาสให้สินค้าของไทยเข้าไปแทนที่สินค้าในตลาดโลก
“อย่าคิดว่าจะเป็นวิกฤตอย่างเดียว ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง และเรายังเดินหน้าต่อไปได้”
นายพิชัย กล่าว
มั่นใจเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ มีสัญญาณที่ดี
นายพิชัย กล่าวว่า แนวโน้มการไปเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ถือว่ามีสัญญาณที่ดีในการที่ไทยจะเข้าไปเจรจา และมีโอกาสที่จะได้พูดคุยกันในเดือน พ.ค.นี้ โดยรัฐบาลจะพิจารณาข้อมูลที่รอบด้าน และขอมั่นใจว่าจะให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยสุด และได้ผลประโยชน์มากสุด
“สัญญาณดีมาก ตอนนี้ เราต้องทำตัวเองให้เรียบร้อยก่อน จริงๆ ได้คุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่รายหลายของสหรัฐ เขาบอกว่าไทยยังโชคดีที่อยู่ต่ำกว่าอันดับ 10 (การเกินดุลการค้าจากสหรัฐ) เพราะจะยังง่ายในการเจรจา ซึ่งเมื่อได้คุยแล้ว ก็หวังว่าการเจรจาจะจบได้ ผมติดต่อหมดทั้ง USTR และบริษัทใหญ่ๆ ที่มีผลประโยชน์ในไทยมาก ซีเกท, HP เรามองรอบด้าน และดำเนินการในรายละเอียดให้ครบก่อน เพื่อให้พร้อมจะไปเจอเขา เรายังมีเวลา ให้พร้อมแล้วไปเจอ ดีกว่าต้องกลับไปกลับมา เพราะหลายประเทศเป็นแบบนั้น เช่น ญี่ปุ่น ที่ไปเจรจาแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลอะไรกลับมา”
รมว.พาณิชย์ ระบุ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน มี.ค.68 หากแยกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่า
– สินค้าเกษตร หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่า 2,185.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.5% โดยสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
– สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน มีมูลค่า 2,035 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ
– สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 มีมูลค่า 24,593.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 23.5% โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป), แผงวงจรไฟฟ้า, หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในเดือน มี.ค.68 ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 497.3% อันดับ 2 กลุ่ม CIS ขยายตัว 59.5% อันดับ 3 สหรัฐฯ ขยายตัว 34.3% อันดับ 4 ไต้หวัน ขยายตัว 29.2% อันดับ 5 ตะวันออกกลาง ขยายตัว 25.1% อันดับ 6 จีน ขยายตัว 22.2% อันดับ 7 ฮ่องกง ขยายตัว 21.3% อันดับ 8 แคนาดา ขยายตัว 16.6% อันดับ 9 อาเซียน (5) ขยายตัว 13.2% และอันดับ 10 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 11.5%
ผู้อำนวยการ สนค. เชื่อว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 2/68 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกในบางเดือนจะขยายตัวได้ 2 digit โดยปัจจัยสนับสนุนเนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสินค้าทดแทน และอีกส่วนเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ประเทศผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าสินค้า เพื่อป้องกันผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐภายในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 ก.ค. ดังนั้น จึงเชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูว่าประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน อาเซียน และยุโรป ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดด้วย จากการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้ โดยเตรียมความพร้อมด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดทอนผลกระทบทางภาษี แสวงหาโอกาสจากวิกฤต โดยการผลักดันสินค้าศักยภาพเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และสร้างความร่วมมือทางการค้า เพื่อกระจายตลาดให้มากขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และผู้ส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ พัฒนามาตรการเยียวยา และกำหนดแนวทางการรับมือกับสภาวะการค้าที่ทวีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)
Tags: GDP, การส่งออก, จีดีพี, พิชัย นริพทะพันธุ์, เศรษฐกิจไทย