น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงกรณีปัญหาลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยหารือที่ประชุม ครม.เพื่อหาแนวทางปรับหลักเกณฑ์ยกเลิกผู้ค้ำประกัน เนื่องจากการกู้ยืมดังกล่าว เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อแสวงหากำไร
“ส่วนใหญ่ผู้ค้ำประกันก็คือญาติพี่น้อง ซึ่งประสบความเดือนร้อนไม่ต่างกัน ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องแบกรับภาระในทางคดีความจากการถูกฟ้องร้อง หลายคนต้องถูกยึดทรัพย์ ส่งผลให้บางรายมีความต้องการที่จะกู้เงินยืมเรียน แต่ไม่สามารถหาผู้ค้ำประกันตนเองได้” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมระบุว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และหาทางออกให้กับกลุ่มผู้ค้าประกันในปัจจุบันและอนาคต รัฐจึงควร กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ โดยปลดผู้ค้ำประกัน และไม่มีผู้ค้ำประกันต่อไป แต่ควรให้นักเรียน นักศึกษาได้เป็นผู้ค้ำประกันตนเอง โดยที่ประชุม ครม.รับทราบ และมอบหมายนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การลดเบี้ยปรับ 7.5% เหลือ 0.5% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.63 รวมถึงการลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืมที่ปิดบัญชี และผู้กู้ยืมที่ชำระให้เป็นปกติ 80% และ 75% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้ให้กับผู้กู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี การผ่อนผันชำระหนี้ ระงับการเรียกหนี้ งดการขายทอดตลาด ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ และชะลอการบังคับคดีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.64
“รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือ รวมถึงเตรียมปรับหลักเกณฑ์การกู้ยืม กยศ.เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 63)
Tags: กยศ., กระทรวงการคลัง, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, อนุทิน ชาญวีรกูล, ไตรศุลี ไตรสรณกุล