ตลท. ย้ำเดินหน้าเปิดกระดานเทรดที่ 3 ให้สตาร์อัพ/SME ระดมทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) เปิดเผยในงานสัมมนา ฝ่าวิกฤตจับทิศลงทุนตลาดหุ้นปี 2021 ภายใต้หัวข้อ NEXT NORMAL มองโอกาสใหม่ตลาดหุ้น 2021 ว่า ตลาดหุ้นไทยถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เห็นได้จากแหล่งระดมทุนหลักของประเทศไทยในปัจจุบันมาจากตลาดหุ้น คิดเป็น 32%, ตลาดตราสารหนี้ 30% (รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) และธนาคารพาณิชย์ 38% ซึ่งนับว่าเป็นจุดแข็งที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเลือกระดมทุนได้

ทั้งนี้ การปรับตัวของตลาดทุนไทยในอนาคต ตลท.จะมุ่งเน้นไปใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1.อนาคตในการระดมทุน แบ่งเป็น แนวทางพัฒนาธุรกิจและสนับสนุนการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยมีแผนออกกระดานเทรดที่ 3 ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดให้กับนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนก่อน เนื่องจากสามารถวิเคราะห์และรับความเสี่ยงจากการลงทุนดังกล่าวได้ รวมถึงรองรับการระดมทุนของบริษัทต่างชาติ จากปัจจุบันบริษัทต่างประเทศสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยด้วย 5 วิธี คือ เข้ามาเป็น Holding Company, เข้ามาจดทะเบียนเป็นครั้งแรก, เข้ามาจดทะเบียนเป็น Secondary Listing, เข้ามาจดทะเบียนเป็น Infrastructure Trust และเข้ามาจดทะเบียนเป็น REIT ได้ ซึ่งตลท. ก็จะผลักดันในส่วนนี้เกิดขึ้นให้ได้มากขึ้น

2.ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน โดยต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนให้มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนไทยในกรณีที่จะกระจายการลงทุนไปทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันสินทรัพย์ที่ตลท. มีอยู่ประกอบด้วยหุ้นไทย, REIT ไทย หรือพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ไทย เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์ต่างประเทศน้อยมาก

3.การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุค New Normal เนื่องจากการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล มีความสำคัญต่อธุรกิจในอนาคต รวมถึงเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่านักลงทุนได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เนื่องด้วยการลงทุนในบริษัทที่มีคะแนน EGS สูง ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดี

“ตลาดทุนไทยจะมุ่งพัฒนา โดยจะทำอย่างไรให้บริษัทต่างๆ ที่มีความหลากหลาย และผู้ลงทุนที่มีความต้องการต่างกันสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้, จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนมีความหลากหลาย และตอบโจทย์การลงทุนได้ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล, จะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพของกระบวนการต่างๆ ในตลาดทุนพัฒนามากขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี และการพัฒนาตลาดทุนบนพื้นฐานความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงแนวทางด้าน ESG ในตลาดทุน และส่งเสริมความรู้ทางการเงิน” นายภากร กล่าว

ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียใน 4-5 ปีข้างหน้า อ้างอิงจากข้อมูลเวิลด์แบงก์และ IMF ประเมินว่า ประเทศที่มีการเติบโตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 67 จะเป็นประเทศจีน รองลงมา คือ อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ทำให้จะส่งผลดีต่อประเทศไทย โดยมองว่าจะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในเอเชียมากขึ้น

ขณะเดียวกันประเทศดังกล่าวมีการซื้อสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งโจทย์ก็คือ เมื่อใดที่ไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value added) และส่งออกสินค้าไปยังประเทศดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น โดยการปรับตัวของภาคธุรกิจ และการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ต่างๆ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อาจปรับโฉมของตลาดทุนไทยได้ในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top