สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ชี้โรค PRRS ควบคุมได้ ย้ำไม่ติดต่อคน

ชี้คนปล่อยข่าวหวังกดราคาหน้าฟาร์ม

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตที่ในบางพื้นที่พบการระบาดของโรค PRRS นั้น พบว่าภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ได้เข้าดูแลควบคุมและเฝ้าระวังโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ทั้งหมด

โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรที่แจ้งเหตุอย่างทันท่วงที เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการตามมาตรฐานด้านการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นความสำเร็จจากการสื่อสารในเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชนในเรื่องโรคในสุกรที่ไม่ติดต่อสู่คนที่กรมปศุสัตส์ ร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรและโรคสัตว์ ได้ดำเนินการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าโรคในสุกรที่เกิดขึ้น เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่สามารถแพร่เชื้อมายังคนได้ และผู้ที่บริโภคเนื้อสุกรก็ไม่มีอันตรายอย่างแน่นอน

“ขอให้พี่น้องเกษตรกรยืนหยัดในการป้องกันโรคในสุกร ที่พวกเราร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด จนทำให้ไทยยังเป็นประเทศเดียวที่สามารถคงสถานะปลอดโรคในสุกรที่สำคัญ อย่างเช่นโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ได้อย่างน่าภูมิใจ ส่วนโรค PRRS นั้นก็เป็นโรคในสัตว์ที่ไม่มีการติดต่อสู่คน ไม่ก่ออันตรายกับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้การบริโภคในภาพรวมไม่ได้ลดลง”

อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าว

พร้อมระบุว่า การให้ข่าวของคนบางกลุ่มว่าการบริโภคลดลงนั้น เป็นการหวังผลในเชิงจิตวิทยา เพื่อกดดันราคาหมูหน้าฟาร์มให้ถูกลง จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรติดตามข่าวสารจากสมาคมฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจในการขายสุกรหน้าฟาร์มต่อไป

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ปริมาณการผลิตสุกรขุนของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 55,000 ตัว/วัน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 50,000 ตัว/วัน การผลิตจึงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ สำหรับผลผลิตส่วนที่เกินจากการบริโภคนั้น จะทำการส่งออกในรูปแบบสุกรขุน สุกรพันธุ์ ลูกสุกร ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ

ด้านสถานการณ์การบริโภคในประเทศช่วงที่ผ่านมาคึกคักขึ้น เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาอีกครั้ง ผนวกกับใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุดและการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ขณะที่มีข่าวดีเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้คนไทยเริ่มออกมาใช้จ่ายรวมถึงการบริโภคที่ดีขึ้นในสินค้าทุกหมวด ถือเป็นอานิสงส์ให้กับสินค้าปศุสัตว์ทั้งสุกรไก่เนื้อ ไข่ไก่ ที่คนหันมาบริโภคมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top