
ทางการไต้หวันเปิดเผยในวันนี้ (27 มี.ค.) ว่า ไต้หวันกำลังพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ในการรับมือกับมาตรการภาษีชุดใหม่จากสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มการนำเข้าพลังงาน และลดภาษีศุลกากรของไต้หวันลง เพื่อรักษาสมดุลการค้าทวิภาคี
ซินเทีย เกียง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันกล่าวในการตอบคำถามของสมาชิกรัฐสภาว่า คณะทำงานด้านการค้าที่ได้รับการจัดตั้งเป็นพิเศษนั้นมีแผนการเบื้องต้นในการเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานจากสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับสหรัฐฯ และส่งเสริมความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
ซีพีซี คอร์ป (CPC Corp) บริษัทพลังงานของทางการไต้หวันได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทอะแลสกา แก๊สไลน์ ดีเวลลอปเมนต์ คอร์ป (Alaska Gasline Development Corp) เพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และลงทุนในโครงการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อของไต้หวันระบุว่า จะช่วยรับประกันความมั่นคงทางพลังงานของไต้หวัน
นอกจากนี้ เกียงยืนยันว่าคณะทำงานได้ร่างแผนเกี่ยวกับการปรับลดภาษีรถยนต์ไว้แล้ว หลังถูกถามว่าภาษีรถยนต์ของไต้หวันจะลดลงหรือไม่ หลังจากปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ขณะที่จวง ซุยหยุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไต้หวันกล่าวว่า ภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะลดลงด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของทรัมป์ รวมถึง สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ภาษีตอบโต้ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจะประกาศใช้ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ มุ่งเป้าไปยัง 15 ประเทศที่มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด โดยเบสเซนต์เรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า “Dirty 15” แต่ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด
ข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า ไต้หวันเป็น 1 ใน 15 ประเทศเหล่านั้น เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ อย่างจีน และเกาหลีใต้ ตลอดจนสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของไต้หวันได้ออกมาปกป้องสถิติการค้าและสกุลเงินของไต้หวันเมื่อวันพุธ (26 มี.ค.) โดยระบุว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และทางการสหรัฐฯ ก็เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ไต้หวันมีดุลการค้ากับสหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่งเพิ่มขึ้น 83% เมื่อปีที่แล้ว โดยการส่งออกของไต้หวันไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 1.114 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไฮเทค เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ไต้หวันครองส่วนแบ่งตลาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 68)
Tags: พลังงาน, ภาษีศุลกากร, มาตรการภาษี, สหรัฐ, ไต้หวัน