
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการประกันสังคม (25 มี.ค.) ได้เห็นชอบการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม โดยให้การรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน กับ 2 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง และหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด
นางมารศรี กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้เห็นชอบการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม ร่วมกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาการรอคอย ลดระยะเวลาในการพักฟื้น ลดภาวะแทรกซ้อน ไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต ใน 2 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่
– หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง โดยรักษาหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยการทำหัตถการ Thrombectomy ภายใน 6 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่มาถึงโรงพยาบาล
– หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด มี 7 หัตถการ กรณีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาการฉุกเฉิน (emergency) ทำหัตถการภายใน 60 นาที (door to balloon time)
โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาล ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด
สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2568 โดยเป็นโครงการต่อยอดมาจากโครงการนำร่องผ่าตัดในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่ โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำนักงาน
ส่วนการดำเนินการติดตามและประเมินผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ระยะเวลารอคอย ความพึงพอใจขอผู้ประกันตน พบว่ามีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 90 โดยอีก 3 กลุ่มโรคให้เข้าสู่การรักษาในระบบปกติ โครงการ sso cancer care และมีการติดตามควบคุมเก็บตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ เพื่อพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพแก่ผู้ประกันตนต่อไป ในปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการทางการแพทย์แบ่งตามกลุ่มบริการ ได้แก่ สถานพยาบาลให้บริการหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 40 แห่ง และสถานพยาบาลให้บริการหัตถการโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 12 แห่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 68)
Tags: ประกันสังคม, ผู้ประกันตน, มารศรี ใจรังษี, สำนักงานประกันสังคม, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจ