“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (16-20 พ.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (9-13 พ.ย.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,346.47 จุด เพิ่มขึ้น 6.86% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 14.7% รองลงมาคือกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ เพิ่มขึ้น 13.9% และสุดท้ายคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 12.3%
สำหรับภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 150 จุด ขานรับกับเม็ดเงินของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่หวนกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง สอดคล้องกับทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ตลอดทั้ง 2 สัปดาห์ ตอบรับกับสัญญาณบวกจากแรงซื้อของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามามากกว่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย คือ การที่นายโจ ไบเดน คว้าชัยชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และจากแนวนโยบายที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาล ส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯส่งสัญญาณอ่อนค่าอย่างชัดเจน มีผลโดยตรงต่อค่าเงินของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทของไทยให้กลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
นับเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกเพิ่มแรงจูงใจดึงกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติให้หวนกลับเข้ามาลงทุน เพราะได้รับกำไรถึง 2 เด้งทั้งจากส่วนต่างราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาทอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังผลจากการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ว่าจะสร้างกระทบเชิงลบต่อบริษัทที่มีธุรกรรมการค้ากับต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน
อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าล่าสุดมีประเด็นเชิงบวกจากความคืบหน้าพัฒนาวัคซีนก็ตาม แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยสร้างแรงกดดันความเชื่อผู้ลงทุนที่มีต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป
ส่วนปัจจัยการเมืองของไทย แม้ว่าวันนี้ภาพการชุมนุมจะมีท่าทีเริ่มผ่อนคลายลงไปบ้าง แต่นักวิเคราะห์เริ่มเพิ่มน้ำหนักกับการชุมนุมในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย. ที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และในกรณีหากผลการประชุมไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมอาจเป็นชนวนยกระดับความร้อนแรงระลอกใหม่ได้เช่นกัน
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET INDEX ระยะสั้น หากดัชนีฯไม่สามารถผ่าน 1,350 จุด มีโอกาสที่พักฐานปรับตัวลดลงสู่แนวรับสำคัญที่ 1,300 จุดได้อีกครั้ง เพราะสัญญาณทางเทคนิคเริ่มบ่งชี้ว่าดัชนีฯเข้ามาอยู่ในโซน Overbought หรือมีแรงซื้อมากเกินไป ส่งผลให้ SET INDEX ค่อนข้างเปราะบางจากความเสี่ยงแรงขายในหุ้นกลุ่มบิ๊กแคป ที่เคยทะยานชี้นำตลาดมาในช่วงก่อนหน้านี้
“กรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้น กรณีที่ดัชนีฯไม่สามารถผ่าน 1,350 จุด อาจเผชิญกับแรงขายทำกำไร ฉุดดัชนีฯไหลลงช่วงสั้นจากความเปราะบางทางเทคนิคหลังจากกราฟบ่งชี้ว่าดัชนีฯกำลังเข้าสู่โซน Overbought หรือมีแรงซื้อมากเกินไป ซึ่งถ้าดัชนีฯจะพักฐานร่วงลงมา 50 จุดก็ไม่แปลก เพราะตลาดฯมีแรงซื้อมาตลอด 2 สัปดาห์ แต่ด้วยความเชื่อมั่นผู้ลงทุนที่ดีขึ้นและแรงซื้อกลุ่มต่างชาติที่กลับมา มองว่ากรอบแนวรับสำคัญที่ 1,330-1,300 จุดก็น่าจะเอาอยู่ เป็นโอกาสของผู้ลงทุนที่ตกรถในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีหากดัชนีผ่าน 1,350 จุดไปได้ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยบวกอะไรก็แล้วแต่หรือแรงซื้อของต่างชาติแนวต้านถัดไปก็มองไปที่ 1,390-1,400 จุด”
นายธนเดช กล่าว
สำหรับคำแนะนำหากดัชนีฯไม่ผ่าน 1,350 จุดกลยุทธ์ระยะสั้นควร Short Against Port ออกมาก่อน โดยเน้นหุ้นบิ๊กแคปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงมาก่อนหน้านี้ โดยขายล็อกกำไรก่อนเพื่อมารอรับแถวระดับใกล้ๆ 1,300 จุดอีกครั้ง
สำหรับสัปดาห์นี้ (16-20 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/63 ของไทย ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. ,ประเด็นทางการเมืองของสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองของไทย
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟียและดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 3/63 ของญี่ปุ่น และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนต.ค. อาทิ ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
“ท้ายสัปดาห์ที่แล้วเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือนที่ 30.175 บาทต่อดอลลาร์ฯก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วน เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินอื่นๆในเอเชียตอบรับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโจไบเดนจากพรรคเดโมแครตและความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน เงินบาทรักษาทิศทางแข็งค่าแม้ว่าสัญญาณการระบาดของโควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ”
บทวิจัย ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 63)
Tags: PODCAST, SET, SET Index, ตลาดหุ้นไทย, ธนเดช รังษีธนานนท์, หุ้นไทย