สัมภาษณ์พิเศษ: SUPER วางเป้ารายได้โตเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 15% วางโมเดลธุรกิจเดินหน้าเพิ่ม PPA ขยายงาน-ยันไร้แผนเพิ่มทุน
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทวางเป้ารายได้ตั้งแต่ปีนี้จะเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 15% หลังจากจัดวางโมเดลธุรกิจชัดเจนขึ้น ทั้งแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ภายในปี 64 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แตะ 2,500 เมกะวัตต์ (MW)
โดยในส่วนนี้เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี PPA ในมือราว 1,500 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วราว 1,000 เมกะวัตต์ และจะ COD เพิ่มเป็น 1,200 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 63
ส่วนแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการขยายงาน ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน เพราะการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้รับสัญญาซื้อขายระยะยาว 20-25 ปี ช่วยสร้างกระแสเงินสดได้ต่อเนื่อง รวมถึงยังสามารถระดมทุนด้วยการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มเติม ตลอดจนการออกหุ้นกู้ นอกเหนือจากปัจจุบันที่พึ่งพิงเงินกู้เป็นส่วนใหญ่
ขณะที่การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ ยังมองโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยในช่วง 1-2 ปีจากนี้จะโฟกัสที่เวียดนามเป็นหลัก รวมถึงไต้หวัน ก่อนจะหันไปมองที่อินโดนีเซียและญี่ปุ่นหลังจากนั้น
“วันนี้ Business model ค่อนข้างชัดเจน เรามีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว มีสัญญา 20-25 ปี และมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อขายออกไปให้กองทุนฯ ตอนนี้เราขายไปแล้ว 118 เมกะวัตต์ ก็จะเกิดกำไรพิเศษได้ทุนคืนมาทันที โมเดลในการวาง cash flow วันนี้เราสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน อย่างมากเราไปขายเพิ่มไม่ว่าจะให้ partner หรือกองทุน ก็ได้ทุนเดิมและกำไรเข้ามา การเติบโตคิดว่าในแง่โครงสร้างธุรกิจค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นผู้พัฒนาด้านพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นลม แสงอาทิตย์ หรือขยะ เป็น core business ของเรา ไม่ใช่จะไปทำก๊าซฯหรือถ่านหิน เรา pure fully renewable”
นายจอมทรัพย์ กล่าว
ปัจจุบัน SUPER มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือราว 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ในไทยราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD แล้วทั้งหมด, โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว 9.9 เมกะวัตต์ COD แล้ว, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.พิจิตร 9 เมกะวัตต์ เตรียมจะ COD ในเดือน มี.ค.นี้, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.หนองคาย 8 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในปี 64, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.เพชรบุรี 9.9 เมกะวัตต์ ยังไม่ได้ COD ขณะที่มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 2 โครงการ ในจ.นนทบุรี 20 เมกะวัตต์ และจ.นครศรีธรรมราช 20 เมกะวัตต์ อยู่ในกระบวนการเพื่อดำเนินการให้ได้ PPA
ส่วนโครงการในต่างประเทศ ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์มในเวียดนามที่ดำเนินการเอง 236.72 เมกะวัตต์ และเพิ่งซื้อเพิ่มอีก 50 เมกะวัตต์เมื่อต้นปี 63 ทำให้มีกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มรวม 286.72 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD แล้วทั้งหมด, โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ติดตั้งในทะเล 2 โครงการ รวม 172 เมกะวัตต์ และบนบกอีก 2 โครงการ รวม 250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.64 ถึงเดือน ต.ค.64
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า แผนงานในปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท จะใช้ทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามทั้ง 4 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 63-64 ขณะที่เงินลงทุนอีกราว 1 พันล้านบาทจะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.หนองคาย
สำหรับแหล่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ และกลุ่มผู้รับเหมาโครงการ ขณะที่ส่วนน้อยมาจากเงินทุนของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีเงินสดเพียงพอต่อการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือทั้งหมด
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า บริษัทมีเงินสดคงเหลือจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) จำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท และเตรียมขายหุ้นทั้งหมด 33% ในบริษัท อินฟินิท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (IAE) ซึ่งทำโซลาร์ฟาร์มในประเทศ ให้กับ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เป็นเงิน 780 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นกำไรพิเศษในงวดไตรมาส 1/63 ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังจะออกหุ้นกู้อีกราว 1 พันล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.2% ขายให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ.นี้ เพื่อให้ตลาดมีความเคยชินต่อการที่บริษัทหันมาระดมเงินทุนผ่านการออกหุ้นกู้ จากที่เคยพึ่งพิงเพียงเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโตของบริษัทที่ต้องการปรับโครงสร้างทางการเงินให้ดีขึ้น โดยภายหลังการขายหุ้นกู้ครั้งนี้ก็จะทำให้มีภาระหนี้หุ้นกู้รวม 1.5 พันล้านบาท นอกเหนือจากภาระหนี้เงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงินราว 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนการขยายงานในต่างประเทศระยะต่อไป ยังมองโอกาสที่เวียดนามเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่มีอยู่ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ กำลังรอทางการรัฐบาลประกาศรับซื้อรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนก.พ.นี้ แม้เบื้องต้นคาดว่าราคารับซื้อจะลดลงจากเดิมราว 20% มาอยู่ที่ 7.09 เซนต์/หน่วย แต่ก็เชื่อว่าจะยังทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR) ของบริษัทยังอยู่ในกรอบ 13-15%, โครงการไต้หวัน ซึ่งยังต้องพิจารณาเรื่องอัตราผลตอบแทนการลงทุนค่อนข้างมาก เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ 400-800 เมกะวัตต์ ทำให้อาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งมีนักลงทุนติดต่อให้บริษัทเข้าไปลงทุนขนาด 20-30 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ก็จะโฟกัสที่เวียดนามเป็นหลักก่อน
“ต่างประเทศเรามองอยู่ 2-3 ตลาด ตอนนี้ที่เป็น HOT SPOT ในเอเชีย คือ เวียดนาม และไต้หวัน เราก็ดูอยู่แต่ยังไม่ได้เข้าไป แต่อีก 2-3 ปีหข้างหน้าถ้าเวียดนามสร้างเสร็จก็จะจบแล้วก็คงจะเหมือนเมืองไทยเพราะสร้างครั้งเดียวเยอะมาก เวียดนามคง active ปีนี้ถึงปีหน้า ปีถัดไปน่าจะอยู่ที่อินโดนีเซียและญี่ปุ่นที่เรามองอยู่…ปีนี้และปีหน้าก็จะยังยุ่งอยู่ที่เวียดนามและอาจจะมีไต้หวันเพิ่ม หลังจากนั้นอาจจะเป็น 2 ประเทศถัดไป”
นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในไทย มองว่าการเติบโตยังค่อนข้างจำกัด หลังจากที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยเติบโตเพียงปีละ 2-3% แต่ก็ยังมองโอกาสการเข้าซื้อโครงการที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยมีผู้มานำเสนอขายต่อเนื่อง แต่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความคุ้มค่าด้วย
ส่วนการเปิดรับซื้อใหม่ในปัจจุบัน โฟกัสอยู่ที่โรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งบริษัทรอดูหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าที่จะออกมาก่อนจึงจะสามารถสรุปว่าจะมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนหรือไม่ และจะลงทุนอย่างไร นอกจากนี้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว ปี 2561-2580 (PDP 2018) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนรอบใหม่อีก 400 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโอกาสอย่างมากของบริษัท ที่ล่าสุดได้เจรจากับพันธมิตรต่อเนื่องเพื่อที่จะร่วมดำเนินการหากรัฐบาลเปิดรับซื้อไฟฟ้า
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโอกาสการลงทุนในลักษณะการขายไฟฟ้าจากพลังงงานแสงอาทิตย์แบบโดยตรงให้กับลูกค้า (Private PPA) ซึ่งปัจจุบีนมีอยู่ 2 โครงการ ที่ดำเนินการให้กับฟาร์มสุกร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) รวม 4.04 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ทยอยส่งมอบงานให้กับลูกค้าแล้ว และบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ขนาด 33.24 เมกะวัตต์ ซึ่งยังมีความล่าช้าเพราะอยู่ระหว่างรอการส่งมอบพื้นที่จาก EASTW
“เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน ยังตัดสินใจไม่ได้วันนี้เพราะยังไม่ชัดเจน ถ้าชัดเจนก็จะบอกได้ว่าจะทำเท่าไหร่ เรารอหลักเกณฑ์อยู่มีคนมาคุยกับเราเยอะมาก แต่มันไม่ง่ายเราก็รับฟังแต่ยังไม่มี commitment กับใครเพราะความชัดเจนยังไม่เกิด เช่น บอกว่าถ้าทำไบโอแมส 5 MW ทำโซลาร์ได้ 1 MW เราก็ต้องคิดว่าเราอยากจะเข้าไปหรือไม่ เพราะแต่ละคนการลงทุนไม่เหมือนกัน และเราเชื่อว่า วันนี้เราไม่ขาดโอกาสในการเติบโต ซึ่งเราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทและความถนัดของเรา”นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 20-25% จากปีที่แล้ว ตามการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่ทยอย COD และรับรู้โครงการใหม่ที่ได้เข้าซื้อมาอย่างโครงการโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม เป็นต้น
ส่วนราคาหุ้น SUPER ที่ยังอยู่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 บาท/หุ้นนั้น นายจอมทรัพย์ มองว่าเป็นไปตามภาวะปกติ และส่วนหนึ่งอาจมาจากการมีฟรีโฟลตมากถึงราว 50% ทำให้อาจจะยังไม่สมดุลมากนักเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีฟรีโฟลตราว 30% ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มของตนถือหุ้นอยู่ราว 42% และอีกราว 8% ก็เป็นกลุ่มพันธมิตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 63)
Tags: SUPER, จอมทรัพย์ โลจายะ, ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น, ผลิตไฟฟ้า, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า