นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมสรรพสามิตว่า ได้ให้นโยบายกรมสรรพสามิตไปดำเนินการ 3 เรื่อง คือ
1. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในปี 2564 ให้จัดเก็บให้ได้ใกล้เคียงหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6.4 แสนล้านบาทมากที่สุด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันการจัดเก็บภาษีของกรมฯ เป็นการจัดเก็บจากแหล่งผลิต มีการส่งข้อมูลเข้ามาที่กรมฯ ทำให้ไม่มีการรั่วไหล และมีความแม่นยำมากขึ้น จากข้อมูลเดือน ต.ค.63 สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวไตรมาส 1-2/2564 ดีขึ้น มีการใช้จ่ายในประเทศ การจัดเก็บก็จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไม่มาก
2. วางแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างการจัดเก็บรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งต้องดูหลายส่วน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม ได้สั่งให้ไปดูโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปัจจุบันได้ปรับลดอัตราการจัดเก็บแล้ว แต่ต้องไปดุว่าจะมีอะไรที่ทำต่อไปได้บ้าง เพราะปัจจุบันมีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า 100% และรถที่ต้องมีการใช้พลังงานผสมแบตเตอรี่ (ไฮบริด) โดยให้ไปดูว่าจะมีการลดภาษีได้หรือไม่ เพื่อเป็นการเอื้อและจูงใจอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ไปทบทวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีพิกัดภาษี แต่ไม่ได้จัดเก็บ โดยให้ยึดจากมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอ ต้องเป็นเบอร์ 5 พลัส หรือเบอร์ 5 ระดับ 1 ดาว 2 ดาว และ 3 ดาว ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ถ้ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนจากเบอร์ 5 แบบปกติ ก็ต้องเสียภาษี เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และลดการใช้พลังงานมากขึ้น และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้ซื้อ เนื่องจากเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้าดีขึ้น ค่าใช้ไฟฟ้าก็จะถูกลง
“กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีจากเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทุกประเภท เพราะมีพิกัดภาษีหมดแล้ว แต่ไม่เคยเก็บ ซึ่งสามารถตั้งเกณฑ์ให้มีการลดใช้พลังงาน ทำได้สูงขึ้นหรือไม่ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่เรื่องนี้ ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน ต้องดูผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมและภาพรวมเศรษฐกิจ และหากมีการเก็บภาษีจริง ก็ต้องให้เวลาปรับตัวกับผู้ประกอบการด้วย”
รมว.คลังระบุ
3. ใช้ภาษีสรรพสามิตสนับสนุนสุขภาพ โดยให้เพิ่มเติมเรื่องการจัดเก็บภาษีความเค็มที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงเป็นโรคไต ซึ่งได้ให้ไปศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม
ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 จะต้องไปศึกษา ขณะนี้ยังมีเวลา ซึ่ง รมว.คลัง เพิ่งให้การบ้านมา ในหลักการต้องไม่กระทบกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจด้วย ปัจจุบัน เครื่องใช้ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5 เป็นส่วนมาก และใช้ฉลากเบอร์ 5 มานานนับ 10 ปี ปัจจุบันมีเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว ที่กรมฯ ต้องการใช้เป็นมาตรฐานอยู่เพียง 10% เท่านั้น ส่วนมาตรการภาษีก็ต้องมีความหลากหลาย ถ้าทำไม่ถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี แต่ถ้าทำได้ตามมาตรฐานก็ไม่ต้องเสียภาษี และถ้าทำได้ดีกว่าก็จะมีสิทธิประโยชน์ให้
สำหรับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบ ปัจจุบันที่ขยายเวลา 2 อัตราที่ 20% และ 40% ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2563 จะไม่มีการขยายเวลาต่อไปแล้ว โดยจะต้องมีการประกาศใช้โครงสร้างภาษีใหม่ให้ทันกำหนดเวลา และต้องพิจารณาจากความเหมาะสมเรื่องรายได้รัฐ เกษตรกรปลูกใบยาต้องอยู่ได้ และไม่มีบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 63)
Tags: กรมสรรพสามิต, ภาษีสรรพสามิต, ลวรณ แสงสนิท, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ