นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะเป็นประธานพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา วงเงินรวม 40,275.33 ล้านบาท
ประกอบด้วย สัญญา 3-2 ช่วงงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279.33 ล้านบาท, สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท, สัญญา3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท, สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี -แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท
ส่วนการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ในวันนี้ได้พิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินรถไฟของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริเวณย่านพหลโยธิน (ริมถนนกำแพงเพชร 2) ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่ง บขส.ได้ค้างชำระค่าเช่าพื้นที่สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.47 หากคำนวณวันที่ 28 ก.พ.64 (สัญญาเช่าสิ้นสุด) จะเป็นเงินประมาณ 1,025 ล้านบาท
โดยบอร์ดมีมติให้ รฟท.ไปเจรจากับ บขส.เพื่อหาแนวทางออกร่วมกัน โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดขององค์กรทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมานั้นการเจรจาเป็นไปในเชิงธุรกิจ แต่บอร์ดเห็นว่าทั้ง รฟท.และ บขส.ต่างก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการด้านคมนาคมแก่ประชาชนเหมือนกัน ดังนั้นข้อสรุปที่ได้ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งจะเร่งหาข้อสรุปและนำรายงานต่อที่ประชุมบอร์ด รฟท.ในเดือนธ.ค.นี้
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547 บขส.จ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้ รฟท.ในอัตราค่าเช่าเดิม 21.818 ล้านบาท/ปี ขณะที่ รฟท.ได้มีการปรับค่าเช่าพื้นที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์จะปรับเพิ่มค่าเช่าปีละ 5% มีค่าเช่าค้างชำระที่เป็นส่วนต่างของอัตราที่ปรับเพิ่มจำนวน 251 ล้านบาท พื้นที่ไม่ใช้เชิงพาณิชย์จะปรับเพิ่มปีละ 2.5% คิดเป็นค่าเช่าค้างชำระที่เป็นส่วนต่างของอัตราที่ปรับเพิ่มจำนวน 774 ล้านบาท
ส่วนจะมีการต่อสัญญาเช่าหรือไม่นั้นจะต้องหารือกันต่อไป ซึ่งจะต้องเจรจาในส่วนของอัตราค่าเช่าและค่าเช่าที่ค้างชำระให้ได้ข้อยุติก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรมีประเด็นฟ้องร้องต่อกัน และ รฟท.ไม่มีข้อข้อข้องในการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ ซึ่ง รฟท.ยังเชื่อว่าในการเจรจาทาง บขส.จะยอมรับกรณีที่จะปรับค่าเช่าพื้นที่ให้เป็นไปตามเหตุผลของสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด รฟท.ยังอนุมัติการจัดทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาจ้างบริหารการเดินรถไฟฟ้าระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองให้กับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยเป็นการเพิ่มภารกิจให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ในการเตรียมบุคลากร โดยอนุมัติกรอบวงเงิน 61 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย.63 ถึงเดือน ต.ค.64 ระยะเวลา 11 เดือน เพื่อรับพนักงานชั่วคราวเข้ามาฝึกอบรมเตรียมเดินรถสายสีแดง โดยวางกรอบอัตราพนักงานชั่วคราวไว้ประมาณ 200 คน
ส่วนการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการบริหารรถไฟสายสีแดงนั้นจะเป็นแนวทางคู่ขนานที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ขณะที่ รฟท.จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเดินรถไปก่อน ซึ่งตามแผนจะมีการทดสอบการเดินรถเสมือนจริงช่วงกลางปี 2564 และเปิดเดินรถในปลายปี 2564
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 65.22 ตรว. โดยจะเป็นพัฒนารูปแบบ Mixed User Project ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล หรือ Health & Wellness โดยมีโรงแรมที่พักอาศัย ที่พักแบบ Serviced Apartment & Retirement ที่รองรับกลุ่มแพทย์ และผู้สูงวัย ,ศูนย์สุขภาพ ร้านค้า โดยการศึกษาพบว่า พื้นที่รอบข้างมีศักยภาพสูง
โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 โดยใช้กฎหมายและระเบียบการรถไฟฯ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วเพราะไม่เป็น PPP ซึ่งโครงการมีมูลค่าลงทุน 3,332 ล้านบาท พื้นที่พัฒนา 1.1 แสนตารางเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี และระยะบริหารสัญญา 30 ปี โดยประเมินมูลค่าที่ดินประมาณ 1,770 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA (Return Of Asset ) ในการเช่าที่ดิน 30 ปี อัตรา 65% ของมูลค่าทรัพย์สิน และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ไม่น้อยกว่า 1,125.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ บอร์ดให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) อีกครั้งเพื่อประเมินข้อมูลล่าสุด เนื่องจากเคยมีการทำ Market Sounding แล้วแต่เป็นช่วงก่อนเกิดโควิด รวมถึงประเมินช่วงเวลาในการเปิดประมูลที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุน ซึ่งคาดจะประกาศเชิญชวนได้ในปี 2564
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 63)
Tags: กระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, จีน, นิรุฒ มณีพันธ์, รถไฟความเร็วสูง, รฟท., ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, ไฮสปีดเทรน