CONSENSUS: เสียงยังแตก ลุ้น กนง. “คง : ลด” ดอกเบี้ยรอบแรก เก็งทั้งปีปรับ 1-2 ครั้ง

ลุ้นมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบวันที่ 26 ก.พ. 68 ทำแวดวงการเงินเสียงแตกยัง “มองต่างมุม” มีทั้งฝั่งที่คาดว่าคงดอกเบี้ย และฝั่งที่คาดว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ย มาเปิดบทวิเคราะห์เหตุผล-ปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจของ กนง.ต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนัดแรกของปีนี้

KTB คาดยังไร้สัญญาณลดดอกเบี้ยรอบนี้ แต่จะไปลดมิ.ย.

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่า การประชุม กนง. รอบวันที่ 26 ก.พ.นี้ น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 2.25% เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็น หรือยังไม่มีสัญญาณชัดเจนจะต้องเร่งลดดอกเบี้ยในขณะนี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกในประเด็นเรื่องสงครามการค้าจากนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ตาม

โดยมองว่า การที่สหรัฐฯ จะเริ่มใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้ราวเดือนเม.ย.นั้น กว่าผลกระทบจริงที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน น่าจะเริ่มเห็นในราวไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป ดังนั้นภายใต้ความไม่แน่นอนสูงในระหว่างนี้ กนง. อาจใช้เหตุผลว่าควรต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.25% เพื่อรอดูสถานการณ์ไปก่อน

“กนง. คงใช้เหตุผลนี้จากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ ดังนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบัน ก็น่าจะยังสอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้…เรื่องสงครามการค้า อาจร้อนแรงมากขึ้นช่วงไตรมาส 2 มองว่าประชุมรอบนี้ อาจยังไม่เห็น risk ชัดเจน เชื่อว่าน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน” นายพูน กล่าวกับ อินโฟเควสท์

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่า กนง.จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้ นั่นคือ นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ยภายในไตรมาส 1 ปีนี้ และการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะเกิดขึ้นเร็วสุดในช่วงเดือนมิ.ย.

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐ กับไทย รวมถึงส่ลผลต่อค่าเงินบาท ซึ่งในปัจจุบันเงินบาทมีความผันผวนสูง โดยภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เงินบาทผันผวนมากถึง 8-9% ต่างจากช่วงก่อนโควิดที่ความผันผวนของค่าเงินอยู่ที่เพียง 4-5% ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น เชื่อว่า กนง.จะยังมีความกังวลในจุดนี้

ส่วนช่วงเวลาที่ประเมินว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยของ กนง. นั้น นายพูน คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้ หรือในการประชุม กนง.รอบวันที่ 25 มิ.ย. 68 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 ของปีนี้ เนื่องจากมองว่าช่วงเวลาดังกล่าว จะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งทางตรง หรือทางอ้อม จากการประกาศใช้นโยบายภาษีของสหรัฐที่มีต่อประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยด้วย ประกอบกับคาดว่าจะได้เห็นการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างเร็วสุดได้ในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้

“ธปท.เคยให้มุมมองว่า เงินบาทจะมีความผันผวนไปในทางอ่อนค่าได้มากกว่า ถ้าดอกเบี้ยเราต่ำกว่าสหรัฐ ดังนั้นถ้าเฟดไม่ลดดอกเบี้ยไตรมาสแรก ซึ่งเร็วสุดที่เฟดจะลดคือมิ.ย. ซึ่งถ้าเฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ย เราก็รอไปก่อนได้อีกนิด เพราะฉะนั้น การลดดอกเบี้ยของ กนง.ในเดือน มิ.ย. จึงสมเหตุสมผล จากทั้งในกรณีที่สงครามการค้ารุนแรงขึ้นจริงในไตรมาส 2 และเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย ซึ่ง กนง.ก็สามารถลดดอกเบี้ยได้ในรอบนั้น” นายพูน ระบุ

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นก่อนเดือนมิ.ย. นั่นคือ พัฒนาการที่แย่ลงของหนี้ครัวเรือน ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่ากังวล จนทำให้ ธปท.ต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลนี้ ก็อาจเป็นตัวเร่งให้เห็นการลดดอกเบี้ยเกิดได้เร็วขึ้น

นายพูน เชื่อว่า ภายในปีนี้คงเห็นการลดดอกเบี้ยจาก กนง.เพียงครั้งเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอและสอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจไทยที่ไม่สามารถเติบโตได้ในระดับศักยภาพที่ 3% เช่นเดียวกับช่วงก่อนโควิด โดยมองว่า ณ สิ้นปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะอยู่ที่ระดับ 2%

CIMBT เชียร์ลดดอกเบี้ยนัดแรก เตือนความเสี่ยงขาลงมากขึ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00% ในรอบการประชุมที่จะถึงนี้ โดยเห็นว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ หรือพยายามรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสให้ทรงตัว ไม่ให้ปรับลดลง

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ได้แก่

1. เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด : หลัง GDP ไทยขยายตัวต่ำเพียง 2.5% ในปี 2567 และมีความไม่แน่นอนด้านกำลังซื้อ แม้มีมาตรการภาครัฐกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ที่ยังอ่อนแอลากยาว ประกอบกับแรงส่งจากกลุ่มภาคบริการ ที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวเริ่มมีจำกัด

2. เงินเฟ้อเสี่ยงไม่ถึงกรอบล่างที่ 1% : ทั้งจากกำลังซื้อคนในประเทศที่ยังอ่อนแอจนผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ขยับสูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้ และจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจากความคลี่คลายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ และไม่เข้ากรอบล่างของกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3%

3. กำลังซื้อครัวเรือนรายได้น้อยและ SMEs อ่อนแอ ห่วงลามไปกระทบธุรกิจขนาดใหญ่ : เริ่มเห็นสินเชื่อที่หดตัวในธุรกิจขนาดเล็กและหลากหลายสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ และเช่าซื้อ จนอาจกระทบสภาพคล่องของธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่ง ธปท.อาจพิจารณาหามาตรการดูแลไม่ให้เกิดการลุกลาม จนกระทบภาคส่วนอื่น และสถาบันการเงินโดยรวม

4. ป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า : สงครามการค้าน่าจะมีความชัดเจนและรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งมีการตอบโต้จากชาติที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี จนอาจทำให้การค้าโลกอ่อนแอลง จนกระทบภาคการผลิต การจ้างงาน การส่งออก และการบริโภคในประเทศ ซึ่งอาจต้องอาศัยมาตรการป้องกันผลกระทบ หรือลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากมาตรการที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

5. พยุงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ : เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐนับจากต้นปี ซึ่งหากจะใช้มาตรการทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็พอจะช่วยลดความน่าสนใจในการลงทุนสกุลเงินบาท โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งพอจะช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นได้บ้าง

ส่วนที่มีความกังวลว่าไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้หรือไม่นั้น นายอมรเทพ ระบุว่า ธปท.สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีอิสระจากธนาคารกลางสำคัญเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ แม้อาจต้องพิจารณาผลกระทบด้านความผันผวนของทุนเคลื่อนย้ายบ้าง แต่ก็สามารอาศัยเครื่องมือบริหารความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ ในการดูแลลูกค้าและนักลงทุนได้

KBANK คาดรอบนี้ยังคงดอกเบี้ย เก็บกระสุนไว้ก่อน

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า กนง.นัดแรกของปี 68 ในวันที่ 26 ก.พ. นี้ มีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% แต่มติอาจไม่เป็นเอกฉันท์

สำหรับปัจจัยในการคงดอกเบี้ยในรอบนี้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่เพิ่งประกาศออกมายังไม่ถึงกับแย่ และเป็นตัวเลขอดีตที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ มองว่า กนง. จะมองภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 68 ว่าจะเป็นอย่างไรมากกว่า และในช่วงไตรมาส 1/68 นี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งพอประคองโมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจไปได้ ขณะที่กับเงินเฟ้อน่าจะโตเกินกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ดังนั้น กนง. น่าจะประเมินเป็นรอบ ๆ ไป ส่วนรอบนี้น่าจะยังคงดอกเบี้ย และเก็บกระสุนไว้ใช้ตอนที่โมเมนตัมเศรษฐกิจชะลอมากกว่า

ในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มองว่า นโยบายทรัมป์น่าจะกระทบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ เฟด มากกว่า ซึ่งเฟดก็ออกมาบอกว่ายังไม่เร่งลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อยังลงช้า และยังมีความไม่แน่นอนเรื่องขึ้นภาษีนำเข้า ดังนั้น เฟดอาจดีเลย์การลดดอกเบี้ย ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินใจของกนง. หรือไม่นั้น มองว่า กนง. น่าจะให้น้ำหนักไปที่เศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยเป็นหลักมากกว่า

อย่างไรก็ดี มองว่า มีโอกาสที่ในปีนี้ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 2 ครั้ง ครึ่งปีแรก 1 ครั้ง และครึ่งปีหลังอีกหนึ่งครั้ง ครั้งละ 0.25% อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและจังหวะเวลาด้วย เนื่องจากปีนี้มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น ณ สิ้นปี 68 อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.75%

สแตนดาร์ดฯ เก็งลดดอกเบี้ยครั้งแรกใน มิ.ย.

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในการประชุมรอบวันที่ 26 ก.พ.นี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก แต่มองว่า กนง.ก็กำลังประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้า และภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเข้ามาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 68 กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนโยบายเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจจะเป็นการประชุมในเดือนมิ.ย. 68 หรือหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และ ธปท.เองก็ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย โดยมององค์ประกอบในการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้

ม.หอการค้าไทย คาด กนง.ลดดอกเบี้ยรอบนี้

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า ในการประชุม กนง. รอบนี้ หากดูจากตัวเลขเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต อัตราเงินเฟ้อที่หลุดกรอบเป้าหมายด้านล่างมาระยะหนึ่ง และคงจะหลุดกรอบเป้าหมายต่อไป

ดังนั้น มองว่า กนง. สามารถพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ การปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของครัวเรือน ภาคธุรกิจและรัฐบาล โดยปัจจัยที่กนง. ใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย คืออัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงิน คงพิจารณาประกอบกัน แต่อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี มองว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ยังไม่สอดคล้องเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เพราะสามารถปรับลดดอกเบี้ย และผ่อนคลายมาตรการทางการเงินได้อีก เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ มีปัญหาเศรษฐกิจโตต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เห็นภาวะฟองสบู่หรืออัตราเงินเฟ้อในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่แนวโน้มราคาพลังงานก็จะปรับลดลงด้วย

ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จะส่งผลต่อดอกเบี้ยไทยหรือไม่นั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ของโลกมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จะได้เห็น Monetary Policy Divergence มากขึ้นในปีนี้ ธนาคารกลางประเทศสำคัญ ๆ จะมีการดำเนินนโยบายแตกต่างกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากนโยบายตั้งกำแพงภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ส่วนธนาคารกลางยุโรป จะเร่งลดดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ฟื้นตัวช้า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากเงินเยนอ่อนค่ามากเกินไป เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่าศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

BAY มอง คง-ลด รอบนี้เป็นไปได้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างน่าผิดหวังด้วยอัตราเพียง 2.5% ในปี 67 โดยเฉพาะผลบวกที่จำกัดต่อการบริโภคภาคเอกชนจากโครงการแจกเงินในไตรมาสสุดท้ายของปี เปิดทางให้ กนง. อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง 25bp สู่ระดับ 2.00% ในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ตาม หาก กนง.เลือกที่จะคงดอกเบี้ยไว้ในรอบนี้ มองว่าเงื่อนไขต่าง ๆ ยังคงเอื้อสำหรับการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 68)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top