
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 68 เติบโต 2.8% โดยมีปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลักๆมาจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี ซึ่งจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจากต้นปีจนถึงต้นเดือนก.พ.นี้ อยู่ที่ 3.97 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 62 และคาดว่าตัวเลขจะดีขึ้นอีกในครึ่งปีหลังของปี
ขณะเดียวกันยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากภาคการส่งออกที่ยังมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความผันผวนจากการใช้นโยบายการค้าของสหรัฐ และการส่งออกรถยนต์หดตัวในปี 67 ในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มองว่ายังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการบริโภคภาคเอกชนจากนโยบายของภาครัฐกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะโครงการ Digital wallet เฟสต่อไปราว 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของจีดีพี กำหนดเริ่มโครงการในเดือนเม.ย.นี้ ยังเป็นที่จับตามองว่าจะหนุนต่อเศรษฐกิจไทยได้มากหรือน้อยอย่างไร
“ยังคงไม่สามารถไม่วางใจต่อการเติบโตและภาพรวมภายนอกประเทศ และในครึ่งปีหลังอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของสหรัฐ อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังขาดปัจจัยหนุนอื่นนอกเหนือไปจากการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3%” นายทิม กล่าว
นอกจากนี้ธนาคารคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในปี 68 จะอยู่ที่ 0.9% จากปีก่อนที่ 0.6% สอดคล้องกับมุมมองการเติบโตที่เป็นไปอย่างเฝ้าระวัง และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.3% ในปี 68 จากปีก่อนที่ 0.4% ตามการฟื้นตัวของภาคบริโภคเบาบาง ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงกลางปีก่อนจะเร่งตัวอีกครั้ง และคงประมาณการเงินบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ที่ 4% ของจีดีพี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะกลับเข้าสู่กรอบ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากฐานที่ต่ำ
ส่วนประเด็นทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในการประชุมรอบวันที่ 26 ก.พ.นี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก แต่มองว่า กนง.ก็กำลังประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเข้ามาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 68 กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนโยบายเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจจะเป็นการประชุมในเดือนมิ.ย. 68 หรือหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และ ธปท.เองก็ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย โดยมององค์ประกอบในการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 68)
Tags: GDP, ทิม ลีฬหะพันธุ์, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, เศรษฐกิจไทย