
ฟรีดริช แมร์ซ ผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายค้านพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU)/พรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ยุโรปต้องเป็นอิสระจากสหรัฐฯ อย่างแท้จริง หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 ก.พ.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีวัย 69 ปี กำลังเผชิญความท้าทายในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังพรรคขวาจัด AfD กวาดคะแนนเป็นอันดับสอง นับเป็นผลการเลือกตั้งที่สะท้อนความแตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลผสมสามพรรคภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์
ทั้งนี้ พรรคการเมืองกระแสหลักต่างปฏิเสธการร่วมรัฐบาลกับ AfD แม้พรรคดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเทคโนโลยีและพันธมิตรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์
แมร์ซ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารมาก่อน จะต้องเข้ารับตำแหน่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ทั้งเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ความขัดแย้งในประเด็นผู้อพยพ และสถานการณ์ความมั่นคงที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน
ผู้นำคนใหม่แสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ อย่างเปิดเผยหลังชัยชนะ โดยประณามความเห็น “อุกอาจ” จากสหรัฐฯ ในช่วงการหาเสียง ซึ่งเขาเปรียบว่าเทียบเท่ากับการแทรกแซงจากรัสเซีย
“เราอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากสองฝ่าย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของผมในตอนนี้คือการสร้างเอกภาพในยุโรป มันเป็นไปได้ที่จะสร้างเอกภาพในยุโรป” แมร์ซกล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับผู้นำคนอื่น ๆ
แม้ปธน.ทรัมป์จะแสดงความยินดีกับผลการเลือกตั้ง โดยระบุว่า “เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ชาวเยอรมันก็เบื่อหน่ายกับนโยบายที่ไม่มีสามัญสำนึก โดยเฉพาะด้านพลังงานและด้านผู้อพยพที่ดำเนินมาหลายปี” ผ่านโซเชียลมีเดียทรูธโซเชียล (Truth Social) แต่แมร์ซกลับวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลทรัมป์ “ไม่ใส่ใจชะตากรรมของยุโรป”
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ยุโรปโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เราสามารถบรรลุอิสรภาพที่แท้จริงจากสหรัฐฯ ไปทีละขั้น” แมร์ซกล่าว พร้อมตั้งคำถามถึงอนาคตของนาโตในการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป
ด้านผลการเลือกตั้ง สถานีโทรทัศน์ ZDF รายงานว่า พรรค CDU/CSU ของแมร์ซได้คะแนนนำที่ 28.5% ตามด้วยพรรคขวาจัด AfD ที่ 20.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ท่ามกลางความวุ่นวายจากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพในช่วงหาเสียง
อลิซ ไวเดล ผู้นำ AfD กล่าวกับผู้สนับสนุนว่า “เรายังคงพร้อมร่วมจัดตั้งรัฐบาล … และครั้งหน้าเราจะมาเป็นที่หนึ่ง”
ทั้งนี้ แม้พรรค CDU/CSU จะชนะการเลือกตั้ง แต่ด้วยคะแนนเสียงที่ต่ำเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลก ทำให้แมร์ซมีอำนาจต่อรองจำกัดในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นกี่พรรค
ด้านพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ของนายกฯ โชลซ์ได้คะแนนเสียงต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ 16.5% ตามด้วยพรรคกรีน (Greens) 11.8% และพรรคซ้าย (Die Linke) 8.7% ขณะที่พรรค FDP และพรรค BSW มีคะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ 5% ที่จะได้เข้าสภา
คาร์สเทน เบอร์เซสกี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของธนาคาร ING วิเคราะห์ว่า “รัฐบาลผสมสามพรรคมีความเสี่ยงที่จะเกิดความสับสนและซบเซามากขึ้น หากทุกฝ่ายไม่ตระหนักว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและสกัดการเติบโตของ AfD” พร้อมเตือนว่า หากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญได้ จะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและเศรษฐกิจเยอรมนี
อนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 83% สูงสุดนับตั้งแต่ก่อนการรวมประเทศปี 2533 โดยผู้ชายมีแนวโน้มเลือกพรรคฝ่ายขวา ขณะที่ผู้หญิงสนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายมากกว่า
แมร์ซ นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมที่ผลักดันพรรคอนุรักษนิยมไปทางขวาและถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับอดีตนายกฯ อังเกลา แมร์เคิล นั้น แสดงจุดยืนสนับสนุนการส่งขีปนาวุธทอรัส (Taurus) ให้ยูเครนอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งต่างจากรัฐบาลโชลซ์ที่ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมที่คาดว่าจะยืดเยื้ออาจทำให้โชลซ์ต้องรักษาการในตำแหน่งนายกฯ ไปอีกหลายเดือน ส่งผลให้นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หดตัวติดต่อกัน 2 ปีต้องล่าช้าออกไป ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก
สถานการณ์ดังกล่าวอาจสร้างสุญญากาศทางการเมืองในยุโรป ขณะที่ภูมิภาคกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ ทั้งการขู่ทำสงครามการค้าจากปธน.ทรัมป์ และความพยายามเร่งข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนโดยไม่มีส่วนร่วมจากยุโรป
ทั้งนี้ รัฐบาลผสมชุดก่อนของโชลซ์ ซึ่งประกอบด้วยพรรค SPD, กรีน และ FDP ล่มสลายลงเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จากความขัดแย้งเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 68)
Tags: สหรัฐ, เยอรมนี