นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 63 ว่า สามารถส่งออกได้มูลค่า 269,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีตลาดที่เติบโตสูง เช่น สหราชอาณาจักรเพิ่ม 92.17%, จีน 34.38%, เกาหลีใต้ 7.45% และสหรัฐฯ 5.42% เพราะได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องการสินค้าถุงมือยางเพิ่มขึ้น
โดยขณะนี้ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อินเดีย บราซิล และหลายประเทศในยุโรป มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ในไทยหลายราย วางแผนขยายกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลางปี 64
นายสมเด็จ ยังกล่าวถึงการเจรจาจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ในสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ว่า กรมฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อเดือนต.ค.63 ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ ระหว่างสหกรณ์ยางและผู้ส่งออกยางไทย 47 ราย กับผู้นำเข้า 38 ราย จาก 20 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เมียนมา อินเดีย ฝรั่งเศส ฮังการี จีน กัมพูชา มาเลเซีย รวม 135 คู่ โดยคาดจะมีการซื้อขายทั้งยางพาราธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง ภายใน 1 ปี มูลค่ากว่า 1,727 ล้านบาท
โดยหลังจากนี้ กรมฯ จะช่วยผลักดันสินค้ายางพาราไทยให้ส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นต่อไป โดยผู้ผลิตควรรักษาคุณภาพของยางไทยให้ดี เพื่อให้เกิดการค้าอย่างยั่งยืน
ด้านนายหลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำยางข้นในการผลิตถุงมือยางของตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกได้ดี ในส่วนของสินค้ายางแผ่น และยางแท่ง พบว่าผู้ส่งออกของไทยยังมีการส่งมอบให้กับลูกค้าชาวต่างประเทศ ทั้งในยุโรป จีน อินเดีย และตุรกีอย่างต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นในช่วงที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้นำคณะไทยเดินทางไปเจรจาตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19 ระบาด และมองว่ายังคงมีความต้องการสินค้าอีกมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 63)
Tags: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, ถุงมือยาง, ยางพารา, สมเด็จ สุสมบูรณ์, ไทยฮั้วยางพารา