
ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) ที่ ‘AA-(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยการสนับสนุน: อันดับเครดิตของ KTX พิจารณาจากความคาดหวังของฟิทช์ว่า มีโอกาสที่ KTX จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จาก ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งคือ ธนาคารกรุงไทย [KTB] (BBB+/AAA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เมื่อเกิดสถานการณ์ที่มีความจำเป็น อีกทั้งอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของ KTX เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วย
ความสามารถในการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของผู้ถือหุ้น: ฟิทช์มองว่า KTB มีโครงสร้างเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า KTX โดยได้รับประโยชน์บางส่วนจากความคาดหวังที่ว่าธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาล โดย KTB เป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของไทย และเป็นธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียวที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ฟิทช์เชื่อว่าการให้การสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผ่าน KTB ไปยัง KTX เนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างกันในด้านชื่อเสียงและด้านธุรกิจของทั้งสององค์กร
นอกจากนี้ขนาดธุรกิจของ KTX มีสัดส่วนน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นของ KTB ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2567 การสนับสนุนช่วยเหลือใดๆแก่ KTX จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทรัพยากรทางการเงินของ KTB
โครงสร้างการถือหุ้นเป็นข้อจำกัดของอันดับเครดิต: อันดับเครดิตของ KTX อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB อยู่ 3 อันดับ สะท้อนถึงการที่ KTB ถือหุ้นใน KTX ที่ 50% และการมีผู้ถือหุ้นอีกรายที่มีสัดส่วนการถือหุ้นในระดับที่มีนัยสำคัญ ซึ่งคือ บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล [XPG] ซึ่งมีส่วนร่วมในการให้ความสนับสนุนในการดำเนินงานตามปรกติแก่ KTX ทั้งในด้านการตลาด และด้านสภาพคล่อง ฟิทช์มองว่าโครงสร้างการถือหุ้นในลักษณะดังกล่าวอาจจำกัดความรวดเร็วและโอกาสการให้การสนับสนุนแก่ KTX เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นที่มีธนาคารแม่เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
มีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกันและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากธนาคาร: ในฐานะที่ KTX เป็นเพียงบริษัทร่วมบริษัทเดียวที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของ KTB บริษัทจึงมีบทบาทในการให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ซึ่งช่วยส่งเสริมธุรกิจโดยรวมของธนาคารแม่ อีกทั้ง KTB ยังมีอำนาจควบคุมกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและการดำเนินงานของ KTX ผ่านทางตัวแทนของ KTB ที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัท และมีอำนาจในการพิจารณากรอบการบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการ
สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงยากลำบาก: บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยได้เผชิญกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทาย จากมูลค่าซื้อขายที่ลดลงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต่ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใน ปี 2567 ลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และการเสนอขายหุ้นใหม่ (IPO) ก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน ปริมาณธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะยังคงมีความผันผวน แต่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทในเครือของธนาคารน่าจะสามารถรักษาปริมาณธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (funding access) ได้ดีกว่า เนื่องจากการสนับสนุนจากธนาคารแม่ในด้านเครือข่ายธุรกิจและทรัพยากรทางการเงิน
ความท้าทายด้านความสามารถในการทำกำไร: KTX ยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อความสามารถในการทำกำไร โดยบริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยต่อปีลดลงที่ 1.7% ณ สิ้นครึ่งแรกของปี 2567 (2566: 4.8%; 2565: 8.3%) ท่ามกลางธุรกรรมการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศที่ซบเซา ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการหารายได้จะยังคงมีความผันผวนเนื่องจากบริษัทยังคงต้องพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความผันผวน อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าระดับการสนับสนุนจาก KTB จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
โครงสร้างเครดิตของผู้ถือหุ้นใหญ่สนับสนุนโครงสร้างเงินทุน: ฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTX สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัท บริษัทสามารถระดมเงินทุนได้อย่างต่อเนื่องผ่านตลาดทุนภายในประเทศและการกู้ยืมเงิน นอกจากนี้ ธนาคารแม่ยังให้วงเงินสินเชื่อแก่ KTX ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านการจัดหาเงินทุนและด้านสภาพคล่องของบริษัท
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) การปรับตัวด้อยลงของโครงสร้างเครดิตของ KTB ซึ่งบ่งชี้ได้จากการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB อาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของ KTX ได้เช่นกัน สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของการพิจารณาอันดับเครดิตและปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ KTB สามารถดูได้จาก ‘ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทยที่ ‘BBB+’ และ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ’ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567
การปรับลดอันดับเครดิตของ KTX ยังอาจเกิดขึ้นได้หากโอกาสในการให้การสนับสนุนจาก KTB มีการปรับตัวด้อยลง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการปรับลดลงอย่างมากของสัดส่วนการถือหุ้นและอำนาจในการควบคุมบริหารงานของ KTB ใน KTX หรือการปรับตัวด้อยลงของการผสานงานและความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจระหว่างบริษัทและธนาคาร โดยหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ฟิทช์อาจจะทำการประเมินอันดับเครดิตของบริษัทบนโครงสร้างเครดิตของตัวบริษัทเอง (stand-alone credit profile) ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตลงหลายอันดับในคราวเดียว แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะกลาง ทั้งนี้การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าว จะพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับตัวดีขึ้นของโอกาสที่ KTB จะให้การสนับสนุนแก่ KTX จะส่งผลให้อันดับเครดิตของ KTX มีการปรับตัวดีขึ้น โดยตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ KTB มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน KTX ที่มากกว่า 75% ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงของการดำเนินงานและการควบคุมในการบริหารงานที่มากขึ้น เช่น การที่บริษัทเป็นบริษัทลูก (consolidated subsidiary) มีฐานะการเงินรวมกับงบการเงินรวมของ KTB
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ KTX ไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับขี้นได้อีก เนื่องจากอยู่ในระดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 68)
Tags: กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, ฟิทช์ เรทติ้งส์