ไทยเร่งเครื่องลุยพัฒนา ATMPs-สเต็มเซลล์ ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1,500 ลบ./ปี

กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือที่เรียกว่า ATMPs เพื่อส่งเสริมการวิจัย การผลิต และการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ ATMPs ที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ตามหลักจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยตั้งเป้าหมายเปิดบริการ และวิจัยผลิตภัณฑ์ ATMPs ในพื้นที่ทดลอง 5 แห่ง ในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์ยา ATMPs แบบเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกในการอนุมัติการวิจัยและผลิตภัณฑ์ยา ATMPs คาดว่าการดำเนินงานตามเจตนารมณ์นี้ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศประมาณ 1,500 ล้านบาท/ต่อปี

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ ยาที่มีตัวยาที่ออกฤทธิ์เป็นยีน สเต็มเซลล์ หรือเนื้อเยื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีการวิจัยและประสบความสำเร็จอย่างมากมาย และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังมีจุดเด่นที่มีการพัฒนาทางการแพทย์อย่างก้าวกระโดด เช่น ใช้รักษาโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ไม่มียารักษาได้ หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงที่ผู้ป่วยผ่านการใช้ยาหรือวิธีการรักษาอื่นแล้ว ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่า 1 แสน – 1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 3 – 30 ล้านบาท ต่อการรักษาแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ดี ในปี 2567 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ ATMPs มีขนาดตลาดถึง 2.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (Dimension market research) เพื่อให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ ATMPs ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสามารถต่อยอดความก้าวหน้าให้กับประเทศได้ จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการพัฒนา โดยมีเป้าหมายปี 2568 ให้คนไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้าถึงยา ATMPs ในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสม ผ่านกลไกการอนุญาตวิจัย ยา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top