นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เลื่อนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์ออกไปเป็นช่วงประมาณไตรมาส 2/64 จากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 3/63 เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG HUB) ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นปริมาณการนำเข้าและส่งออกที่คึกคักมากขึ้นในปี 65
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคลดลงและการเจรจากับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงจีนตอนใต้ อาจยังติดขัดอยู่บ้าง อีกทั้งราคานำเข้า LNG จากตลาดจร (spot) ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงราว 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ทำให้อาจยังไม่เหมาะสมในการทำตลาดช่วงนี้ แต่หากราคาปรับลดลงมาต่ำที่ราว 3-4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ที่คาดว่าจะเกิดในช่วงหน้าร้อนก็น่าจะจูงใจให้เกิดการนำเข้าเพื่อส่งออกได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปตท.ทดสอบความพร้อมของระบบคลัง LNG โดยเริ่มทดลองดำเนินการบ้างแล้วเมื่อช่วงต้นปี 63 ด้วยการนำเข้า LNG แล้วส่งออกไปยังจีนตอนใต้ พร้อมกับเจรจากับกรมศุลกากรเรื่องภาษีเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภาษี (free zone) รองรับการเป็น LNG HUB ในภูมิภาค
สำหรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปี 63 ลดลงราว 8-10% จากปีก่อนมาที่ระดับประมาณ 4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และคาดว่าความต้องการใช้ในปี 64 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แม้จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซฯขนาด 2,500 เมกะวัตต์ของบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เข้าระบบในปีหน้าก็ตาม แต่ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าอาจยังเติบโตไม่มาก รวมถึงการผลิตของภาคอุตสาหกรรมแม้จะฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 แต่ก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ด้านการจัดหาก๊าซฯในปี 64 ยังคงเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับปีนี้ โดยคาดว่าจะเป็นการจัดหาก๊าซฯจากอ่าวไทย ราว 63% จากบนบก 2% จากเมียนมา 16% และการนำเข้า LNG สัดส่วน 19% ซึ่งในส่วน LNG คาดว่าจะมีการนำเข้าราว 5.6-5.7 ล้านตัน แบ่งเป็น นำเข้าตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน และการนำเข้าจาก spot ราว 4-5 แสนตันใกล้เคียงกับปีนี้
นายวุฒิกร กล่าวว่า การนำเข้า LNG spot จะมีการนำเข้าจริงในปี 64 เท่าใดนั้นคงต้องรอพิจารณาสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจนด้วย โดยภาพรวมคาดการณ์การนำเข้าระดับดังกล่าวครอบคลุมถึงการนำเข้าของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ด้วย โดยปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ GULF ซึ่งเป็น Shipper ก็ได้มาหารือเพื่อขอใช้คลัง ของปตท.เตรียมการรองรับการนำเข้า LNG แต่การนำเข้าจริงยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐด้วย
ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีรับ-จ่าย LNG ที่หนองแฟบ ในจ.ระยอง ซึ่งเป็นคลังแห่งที่ 2 มีความก้าวหน้าแล้วราว 58.6% เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 เมื่อรวมกับสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งแรกที่มาบตาพุด ก็จะทำให้ปตท.มีขีดความสามารถในการรับ-จ่าย LNG รวม 19 ล้านตัน/ปี หรือราว 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปี 65
ส่วนโครงการระบบท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และเพิ่มกำลังการส่งก๊าซฯจากฝั่งตะวันออกไปยังโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯฝั่งตะวันตกนั้น ปัจจุบันแล้วเสร็จในบางส่วนและเริ่มทดลองส่งก๊าซฯให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) แห่งใหม่ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ ของ GULF ตั้งแต่เดือนต.ค.63 และคาดว่าระบบท่อส่งก๊าซฯทั้งโครงการจะแล้วเสร็จและสามารถเชื่อมต่อกับคลัง LNG ที่หนองแฟบได้ในปี 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 63)
Tags: LNG, PTT, ก๊าซธรรมชาติเหลว, ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, ปตท., วุฒิกร สติฐิต, หุ้นไทย