ประเทศเอเชียเริ่มไหวตัว เล็งซื้อ LNG สหรัฐฯ เพิ่ม หวังเลี่ยงภาษีทรัมป์

ประเทศในเอเชียอย่างน้อย 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน บังกลาเทศ และเวียดนาม แสดงความสนใจที่จะซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยความหวังว่าจะช่วยหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีนำเข้า

บริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายกำลังการส่งออก หลังจากที่ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยกเลิกการระงับการออกใบอนุญาตส่งออกของรัฐบาลชุดก่อน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การตัดสินใจของปธน.ทรัมป์อาจส่งผลให้มี LNG ในตลาดเพิ่มขึ้นเกือบ 100 ล้านตันต่อปีภายในปี 2574

“เอเชียยังคงเสี่ยงต่อการถูกปรับขึ้นขึ้นภาษีศุลกากร เมื่อพิจารณาจากการที่ 7 ใน 10 ประเทศในภูมิภาคนี้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง” นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ระบุในบันทึกข้อความ

ปธน.ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ว่า ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ซื้อ LNG รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จะเริ่มนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ ในปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศกำลังร่วมมือกันเกี่ยวกับการร่วมทุนด้านน้ำมันและก๊าซในรัฐอะแลสกา

ข้อมูลจากเคปเลอร์ (Kpler) ระบุว่า เกือบ 10% ของการนำเข้า LNG ของญี่ปุ่นมาจากสหรัฐฯ

ทางด้านอัน ดุก-กึน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ กล่าวว่า เกาหลีใต้อาจจะนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึง LNG เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านอุปทานพลังงาน เนื่องจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ในปี 2567 เกาหลีใต้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 5.57 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25.4% จากปีก่อนหน้า ขณะที่เคปเลอร์ระบุว่า เกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ LNG รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก นำเข้าเชื้อเพลิงที่ผ่านกระบวนการทำให้เย็นจัด (super-chilled fuel) ในปริมาณ 47.2 ล้านตันในปีที่แล้ว ซึ่ง 5.71 ล้านตันมาจากสหรัฐฯ

ส่วนอินเดียนั้น บริษัทพลังงานของอินเดีย อาทิ GAIL India, Indian Oil Corp และ Bharat Petroleum กำลังให้ความสนใจที่จะซื้อ LNG จากสหรัฐฯ

เคปเลอร์ระบุว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ซื้อ LNG รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก นำเข้า LNG ในปริมาณ 26.59 ล้านตันในปี 2567 ซึ่ง 5 ล้านตันในจำนวนนี้มาจากสหรัฐฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 68)

Tags: ,
Back to Top