นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษาปรับปรุงรูปแบบโครงการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง
จากที่ได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พ.ย.นั้นไปแล้ว ผลศึกษาที่สรุปเป็นรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram นั้นพบว่าใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งในการลงทุนโครงการจะต้องดูเรื่องความคุ้มค่า และผลตอบแทนประกอบด้วย
ในเบื้องต้น นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รายงานว่า มีเทคโนโลยีอื่นที่สามารถดำเนินการแทนรถแทรมป์ที่เป็นล้อเหล็กได้ เช่น ปรับเป็นรถล้อยาง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำกว่า คือระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) โดยใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เป็นต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เป้าหมายของการแก้ปัญหาจราจรที่จังหวัดภูเก็ต คือ สร้างระบบขนส่งมวลชนที่ขนคนและทำให้เดินทางเร็วขึ้น ซึ่งรถ BRT เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า การก่อสร้างทำได้ง่ายกว่า โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ปรับปรุงผิวทางและแบ่งกั้นช่องทางให้ชัดเจน และในอนาคตหากมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น สามารถพ่วงต่อรถโดยสารเพิ่มได้
“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอโครงการสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ และยังมีเวลาโดยตามแผนจะมีการประมูลและก่อสร้างในปี 2564 ส่วน TOR จะไม่มีการปิดกั้นการนำเสนอของเอกชน โดยสุดท้ายจะตัดสินกันที่เทคนิคและความคุ้มค่าการลงทุน”
ทั้งนี้ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. มูลค่า 35,201 ล้านบาท คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติผลการศึกษาเมื่อ วันที่ 21 ต.ค. 63 โดยอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคม จากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) โดยตามแผนงานคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเดือนต.ค. 2564 คาดว่าจะเปิดประมูล ในช่วงต้นปี 2565 เปิดให้บริการปี 2569
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (6 พ.ย. 63)
Tags: ภูเก็ต, รถไฟฟ้ารางเบา, รฟม., ระบบขนส่งมวลชน, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ