สื่อจีนรายงานว่า เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว จีนได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น และล่าสุดผลตรวจตัวอย่างไม่พบความผิดปกติ ซึ่งอาจปูทางไปสู่การยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น
หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานในวันพุธ (22 ม.ค.) ว่า สถาบันวิจัยหลายแห่งของจีนตรวจไม่พบความผิดปกติของระดับสารทริเทียม (Tritium) ซีเซียม-137 (cesium-137) และสตรอนเชียม-90 (strontium-90)
จีน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมสำรวจสภาพแวดล้อมทางทะเลบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ภายใต้กรอบการทำงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยทาง IAEA จะรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงต่อไป
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนส.ค. 2566 และจีนได้ประกาศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทันที จนกระทั่งเดือนก.ย. 2567 ญี่ปุ่นและจีนบรรลุข้อตกลงว่า จีนจะทยอยกลับมานำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจีนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญจีนระบุว่า การตัดสินใจฝ่ายเดียวของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำนั้นขาดความชอบธรรม พร้อมกับย้ำเตือนให้ญี่ปุ่นดำเนินการอย่างรอบคอบตามหลักวิทยาศาสตร์เสมอ
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ระบุว่า ผลการตรวจสอบเพียงครั้งเดียวมีค่าอ้างอิงที่จำกัด ขณะที่การติดตามตรวจสอบระหว่างประเทศภายใต้กรอบของ IAEA เป็นความพยายามระยะยาว พร้อมกับยืนยันว่า จีนจะดำเนินการเก็บตัวอย่างและติดตามตรวจสอบอย่างอิสระต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 68)
Tags: จีน, ญี่ปุ่น, น้ำทะเล, ห้ามนำเข้า, อาหารทะเล, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ