PCE ปักธงรายได้ปี 68 ทะยานแตะ 3 หมื่นลบ. ลุยขยายกำลังผลิต-เพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์ม

นายพรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน เปิดเผยว่า ภาพรวมแผนธุรกิจปี 68 บริษัทฯ วางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าในธุรกิจการสกัดและการกลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนขยายเป็น Bio Complex เช่น ลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการน้ำเสีย

รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญด้านการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดน้ำมันปาล์มและอื่นๆ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปาล์มที่บริษัทฯ มีอยู่ เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) โดยสัดส่วนการเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายเป็น 40,000 ตันจากเดิม 15,000 ตัน อีกด้วย อีกทั้งเรายังวางแผนการส่งออกกะลาปาล์มให้มากกว่า 100,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก 90 ตัน/ชม. เป็น 135 ตัน/ชม. ขยายกำลังการผลิตด้วยการกลั่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) จาก 300 ตัน/วัน เป็น 700 ตัน/วัน ตลอดจนเน้นผลิตและจำหน่ายน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และมีแผนลงทุนด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เพื่อให้การสกัดน้ำมันปาล์มมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและบริการทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองอัตราการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน 3% (ข้อมูลจากกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์) คาดว่าจะสนับสนุนรายได้ปี 68 ให้เติบโตขึ้นสู่ระดับ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน

“ปี 68 มีแนวโน้มว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มไปจีน และอินเดียยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เราจะขยายกำลังการผลิต เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ และที่สำคัญ PCE ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญด้าน ESG ซึ่งมีโครงการส่งเสริมการนำน้ำมันพืชใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำน้ำมันเก่า 2 ขวดมาแลกเป็นน้ำมันใหม่ 1 ขวด รวมถึงโครงการรวมพลังสร้างปาล์มน้ำมันไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด โดยเป็นการร่วมลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐ” นายพรพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังคงยึดนโยบายขยายขอบเขตธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างผลตอบแทนระยะยาวผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการควบคุมความเสี่ยงในธุรกิจสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์ม ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจเทรดดิ้งเป็นพิเศษ ด้วยการพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงที่ซับซ้อนจากราคาพลังงาน กฎระเบียบ สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top