นักวิชาการชี้ประเทศมหาอำนาจแข่งขันเร่งเทคโนโลยีโตก้าวกระโดด

อนุสรณ์-ธรรมใจ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2568-2570 จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดมากกว่าเดิมภายใต้การแข่งขันทางเทคโนโลยีของกลุ่ม G-8 รวมทั้งการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีน ห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตและการพัฒนาและการบริการเทคโนโลยีชั้นสูงจะมีการแยกส่วนมากขึ้นจากการกีดกันและการแข่งขันกัน ทั้งการบูรณาการจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันอย่างรุนแรงสามารถแรงกดดันให้สองมหาอำนาจต้องสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น พึ่งพาระหว่างกันน้อยลง เทคโนโลยีขั้นสูงถูกใช้เพื่อกิจการทางด้านความมั่นคงความปลอดภัย การใช้เพื่อการสอดแนม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น มีการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อกิจการป้องกันประเทศและทางการทหารเพิ่มขึ้น อันไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพของโลกและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูงควรถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ หากองค์กร ประเทศ หรือ ผู้คนต้องใช้เงินหรืองบจำนวนมากเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์ การป้องกันระบบความมั่นคงทางไซเบอร์จากการถูกโจมตีเพื่อวัตถุประสงค์อันเลวร้าย เพื่อทำลายล้าง ไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ย่อมทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ระบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกรวมศูนย์และสร้างอำนาจผูกขาดให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคไม่กี่บริษัท ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกรุนแรงมากยิ่งกว่าเดิม การพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงเทคโนโลยีต้องกระจายศูนย์มากกว่าเดิม และต้องลดอำนาจผูกขาดทางเทคโนโลยีของบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค Magnificent 7 (Apple Inc.-AAPL, Microsoft Corp. MSFT, Amazon Inc.-AMZN, Alphabet-Google, Meta Platform-META, Nvidia Corp-NVDA) แม้จะเกิดสัญญาณฟองสบู่ของราคาหุ้นของ 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ในแง่โครงสร้างของตลาดของเศรษฐกิจดิจิทัลและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง 7 บริษัทยังคงมีอำนาจทางนวัตกรรมและการตลาดในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดและระบบเศรษฐกิจ และผลประกอบการทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ยังอยู่ในระดับดีมาก และยังคงมีการลงทุนจำนวนมหาศาลทางด้านนวัตกรรมและการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ฉะนั้นอำนาจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดจะอยู่ไปอีกไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ ภายใต้การกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทไฮเทคของจีนหรือชาติอื่น ๆ

การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งมากยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกันบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางด้านความมั่นคงย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพราะจะถูกกีดกันการเข้าสู่ตลาดด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงและการเมือง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ ได้ศึกษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องระบบเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา ระบบกำกับดูแลและกฎหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรถยนต์และการขนส่งคมนาคม รถยนต์ EV รถยนต์ไร้คนขับ รถยนต์บินได้ รถไฟไฮเปอร์ลูปโดยแคปซูลลอยตัวเหนือรางด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (อาจเป็นระบบขนส่งทางรางที่มีความเร็วมากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม บริษัท Hyperloop One สตาร์ทอัพเจ้าแรกที่นำเสนอแนวคิดระบบรางแห่งอนาคตได้ปิดกิจการไปและทรัพย์สินทางปัญญาได้ถูกโอนย้ายไปยัง DP World บริษัทขนส่งที่รัฐบาลดูไบถือหุ้นใหญ่

2.Distributed Web-based System ระบบเว็บแบบกระจายศูนย์เทคโนโลยีนี้จะลดอำนาจผูกขาดทางด้านข้อมูลจากระบบเว็บรวมศูนย์ (Centralized Web-based System) และสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การติดต่อสื่อสารแบบสื่อสังคมออนไลน์จะเปลี่ยนแปลงไปพัฒนาการทางเทคโนโลยีในส่วนนี้เกิดจากเทคโนโลยีบล็อคเชน เทคโนโลยีบล็อคเชนเป็นพื้นฐานของการทำงานที่ทำให้เกิดการเงินแบบกระจายศูนย์ (Defi-Finance) ซึ่งจะแตกต่างจากระบบธนาคารแบบดั้งเดิม เช่น อีเธอเรียม บิทคอย เป็นต้น การแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ (DEX) เมื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนในภาคการเงินอย่างคริปโตเคอเรนซีช่วยสามารถทำให้เกิดการทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer ได้ ตัดคนกลาง (สถาบันการเงินแบบเดิม) ออกไป ทำให้แตกต่างจากการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ (CEX) หรืออย่าง Swarm เป็นระบบการเก็บรักษาไฟล์ข้อมูลต่างๆแบบกระจายศูนย์ไม่เก็บไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือ อย่าง Mastodon และ Fediverse เป็น สื่อสังคมออนไลน์แบบกระจายศูนย์ โดยเราสามารถ Upload VDOs เก็บรักษาและแชร์กับเพื่อนๆได้โดยเครือข่ายส่วนตัว หรือ OpenBazaar เป็น Distributed Marketplace

3.Generative AI และ 4.Quantum Computing จะพลิกโฉมโลกและชีวิตมนุษย์มากยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อเรามีความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต สมาร์ทโฟน พลิกโฉมระบบเศรษฐกิจ ระบบธุรกิจได้มาก พอสมควร แต่ครั้งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมบันเทิง จนถึงการสื่อสาร การเงินและการออกแบบ ระบบการเมือง การทำงานและวิถีชีวิตผู้คนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว นอกจากนี้ Gen AI ทำให้สามารถพัฒนาสู่ AGI (Artificial General Intelligence) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานเลียนแบบสมองมนุษย์ได้ ไม่ได้เป็นเพียงปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานเฉพาะเจาะจงตามโปรแกรมคำสั่งที่ถูกป้อนให้เท่านั้น การเกิดขึ้นของ Gen AI และ AGI จะทำให้แรงงานทักษะขั้นสูงมีผลิตภาพ (Productivity) และผลผลิตเพิ่มขึ้นหลากหลายและเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้เรา สามารถทำงานน้อยลง ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม และ Gen AI และ Quantum Computing จะเข้ามาทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้แทบจะทุกสาขาวิชาชีพรวมทั้งสามารถทำงานในสิ่งที่ศักยภาพของสมองมนุษย์มีขีดจำกัด ไม่สามารถทำได้

Gen AI and AGI จะเปลี่ยนกายวิภาคของงาน (Anatomy of Work) เสริมศักยภาพการทำงานของแรงงานมนุษย์ จากการวิจัยพบว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้สามารถประหยัดเวลาการทำงานของแรงงานมนุษย์ได้ไม่ต่ำกว่า 60-70% และเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ความรู้สูง ทักษะสูง และค่าจ้างสูงมากกว่าแรงงานทักษะต่ำและค่าจ้างต่ำ มีการคาดการณ์ตำแหน่งงานในตลาดแรงงานทั้งหมดครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 50% จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติภายในปี 2588 Gen AI ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีการผลิตจะทำให้อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5-3.4% ต่อปี Augmentation แรงงานทักษะต่ำให้ทำงานได้ดีขึ้นและสร้างผลกำไรให้กับกิจการได้มากขึ้น

Gen AI และ AGI จะนำไปสู่อุปทานส่วนเกินจำนวนมากของงานสร้างสรรค์ อุปทานแรงงานสร้างสรรค์ นำไปสู่การลดลงของอุปสงค์ต่อแรงงานสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างชัดเจนในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าและอนาคตต่อไป ขณะที่กิจการการผลิตหรือบริการที่อาศัยแรงงานมนุษย์จะมีลักษณะคุณค่าในตลาดเฉพาะเจาะจง (Gain Niche Value) ผลิตภาพที่สูงขึ้น ลดระดับราคาของสินค้าจำเป็นทั้งหลาย เปลี่ยนแปลงพลวัตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเคลื่อนตัวสู่การเป็น Hyper Capitalism มากขึ้นพร้อมอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ Gen AI และ AGI ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องปฏิรูปและปรับเปลี่ยนระบบประกันสังคม ระบบความมั่นคงและความปลอดภัยของแรงงาน ข้อถกเถียงเรื่องภาษี หุ่นยนต์และ AI เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น บางประเทศมีการเก็บภาษีเพื่อมาใช้สำหรับสวัสดิการแรงงาน บางประเทศไม่เก็บเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งลดแรงงานจูงใจในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลายประเทศเริ่มคิดถึงระบบ Universal Basic Income เพื่อรองรับแรงงานมนุษย์ส่วนเกิน เพื่อให้สามารถดำรงชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ ระบบคุณค่าของสังคมมนุษย์ ความเชื่อศรัทธาต่อศาสนาเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ มนุษย์ยุค AI ให้คุณค่ากับความร่ำรวยทางด้านวัตถุเงินทองน้อยลง แต่จะให้คุณค่ากับการใช้ชีวิตตามความปรารถนามากขึ้นหลายประเทศเริ่มคิดถึงระบบ Universal Basic Income เพื่อรองรับ แรงงานมนุษย์ส่วนเกิน เพื่อให้สามารถดำรงชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำได้

5.การเชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านเทคโนโลยี BCI สามารถใช้ประโยชน์หลากหลายผ่านการสั่งการโดยเพียงใช้สมองสั่งการ

6.เทคโนโลยี Exoskeleton เพื่อเสริมศักยภาพทางกายภาพและลดขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้างและขนส่งสินค้า

7.เทคโนโลยี Hologram และ Metaverse สามารถใช้ประโยชน์ในระบบการศึกษาการเรียนรู้ และอุตสาหกรรมบันเทิง

8.เทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (Cybernetics Technology)

9.เทคโนโลยีแปลภาษาแบบเรียลไทม์สมบูรณ์แบบ ทำให้เราสามารถสื่อสารโดยไม่มีข้อจำกัดทางภาษา ตลาดแรงงานสำคัญผู้จบการศึกษาทางด้านภาษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงหลักสูตรทางด้านภาษากันใหม่

10.เทคโนโลยี Tamdem Cell (Super-Efficient Solar Cell) โซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อให้ราคาพลังงานสะอาดถูกลง ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ อย่าง Joseph Schumpeter พูดถึงนวัตกรรมการจัดการในปี 1930s โดยเริ่มศึกษาถึงกระบวนที่ระบบทุนได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมในหนังสือ Schumpeter “Capitalism, Socialism and Democracy” อธิบายกระบวนการดังกล่าวว่าผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly profit) ได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของผู้อื่น หรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่าง ๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ Schumpeter เรียกว่าเป็นการทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction) เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โอกาสใหม่รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ คำว่าการทำลายที่สร้างสรรค์นี้เป็นคำประดิษฐ์ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันนาม Werner Sombart ท่านผู้นี้ยังใช้คำว่า Late Capitalism หรือ ทุนนิยมยุคปลายในหนังสือของท่านเอง คำว่าการทำลายที่สร้างสรรค์ (Creative Destruction) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์โดย Joseph Schumpeter และมักใช้อธิบายผลของนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกรณีของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล

ล่าสุด IMF ได้สำรวจดัชนี AI Prepared Index โดยทำการศึกษาใน 174 ประเทศ โดยดัชนีจะครอบคลุมตัวชี้วัด เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) การบูรณาการทางด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจ (Innovation and Economic Integration) ทุนมนุษย์และนโยบายตลาดแรงงาน (Human Capital and Labour Market Policies) และกฎระเบียบและจริยธรรม (Regulation and Ethics) จากงานวิจัยและสำรวจของ IMF เกี่ยวกับ AI Prepared Index ไม่ใช่การจัดลำดับความสามารถ เป็นเพียงงานวิจัยและสำรวจเพื่อนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่มีข้อค้นพบหลายประการที่น่าสนใจ คือ ประเทศพัฒนาแล้วจะได้ผลประโยชน์และผลกระทบทางลบจากเทคโนโลยีเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศรายได้ปานกลาง สามารถรองรับการใช้ AI ในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่า โดยมีสิงคโปร์ สหรัฐฯ และเดนมาร์ก มีความค่าของดัชนีความพร้อมต่อ AI สูงสุดอันดับต้น ๆ ของโลก

ส่วนประเทศไทยอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนาเล็กน้อย แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีเอไอได้ แรงงานที่มีการศึกษาสูงสามารถปรับตัวได้ดีกว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อแรงงานรายได้สูงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอในเสริมการทำงานให้มีผลิตภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลตอบแทนของทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เอไอนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้นอีก หากผลิตภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จะนำมาสู่ระดับรายได้โดยรวมของแรงงาน คำแนะนำของ IMF จากรายงาน AI Prepared Index ล่าสุด ต่อประเทศพัฒนาแล้ว คือ ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสภาวะใหม่ด้วยการ Upgrading Regulatory การปรับและจัดสรรกำลังแรงงานใหม่ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆใหม่ หรือ ส่งเสริมให้เกิด Labor Reallocation และมีระบบสวัสดิการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการพัฒนทักษะทางด้านดิจิทัล ทุกประเทศต้องเน้นให้เกิด a safe and responsible AI environment

สถาบัน Brookings Institution เคยคาดการณ์ว่าระบบอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนตำแหน่งงานรวม 25% แต่เทคโนโลยี AI เองจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่มากมายที่ต้องมีทักษะและความรู้ใหม่ และในอนาคตจะเห็นอาชีพใหม่อย่างน้อย 10 อาชีพ ดังต่อไปนี้ 1.AI Engineers and Developers 2.Data Analysts for AI System 3.AI Content Moderators 4.AI Customer Service Rep. 5.AI Trainers and Coach 6.AI-Focused Business Consultant 7.AI-Enabled Translators and Interpreters 8.AI-Assisted Medical Professional 9.AI Call Center Agents 10.AI-Enabled Marketers and Advertisers โดยตำแหน่งงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถทดแทนงานแบบเดิมได้ทั้งหมด ทำให้จำนวนคนทำงานไม่เต็มเวลา หรือคนว่างงานจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ยกเว้นมีการออกแบบระบบเศรษฐกิจเสียใหม่

AI จะมีศักยภาพที่เหนือกว่ามนุษย์ทุกด้านภายในปี 2573-2578 การพัฒนาระบบประมวลผลผ่านชิปคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นในอัตราเร่งและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษทำให้ชิปคอมพิวเตอร์ฉลาดเท่ามนุษย์ที่มี IQ 10,000 สมองมนุษย์ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับ AI แม้สมองมนุษย์จะมีพัฒนาการเหนือกว่าสัตว์ทุกประเภทแต่ไม่สามารถสู้ Gen AI ได้ Gen AI ทำงานผ่านระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่แต่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกและมิติทางศีลธรรม เราจึงควรพัฒนาให้ AI มีมิติทางด้านคุณค่าทางศีลธรรมเพิ่มขึ้น ความรู้เรื่อง Quantum Entanglement จะนำไปสู่เทคนิคการสื่อสารล้ำสมัยในการใช้อนุภาคควอนตัมในการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารยุคใหม่นำมาสู่ผลต่อการอภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อสารมวลชนแบบพลิกโฉมต่อไป

การบุกเบิกพัฒนาเทคนิควิธีการสื่อสารแห่งอนาคต โดยใช้คู่อนุภาคควอนตัมเป็นเครื่องมือในการรับส่งข้อมูลข่าวสารเข้ารหัส ซึ่งมีความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นกว่าการสื่อสารแบบดิจิทัลในปัจจุบัน การประเมินผลแบบ QC จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมยา สื่อสาร การเงินการลงทุน เคมี อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบบการเมือง สังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภค สร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสให้กับองค์กรธุรกิจ องค์กรรัฐและพรรคการเมือง จะมีบูรณาการ QC เข้ากับ Cloud Technology ในอนาคตทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการใช้ Quantum Computing ได้ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ การแพร่หลายของการใช้ QC จะนำมาสู่ Creative Destruction ทำลายล้างกิจการและธุรกิจแบบเดิม สร้างกิจการและธุรกิจใหม่ขึ้นมาแทนที่ Quantum Computer นั้นมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการปรับให้เหมาะสมที่สุด (Optimization) ผู้บริโภคและผู้ใช้ทางธุรกิจโดยทั่วไปที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันกับระบบดังกล่าวผ่านทาง Remote Access Model ที่ IBM ใช้อยู่ในปัจจุบัน

Quantum Technology นัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ได้และสามารถคำนวณจุดที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด Optimization ด้วยความถูกต้อง ใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลงในตรวจวินิจฉัยโรคเชิงลึก การผลิตยาคำนวณสูตรยา ใช้ประโยชน์ในธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงาน ประเมินความคุ้มค่าของแหล่งขุดเจาะน้ำมันและการตรวจหาแหล่งพลังงาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในภาคการเงินการลงทุน โลจีสติกส์ ค้าปลีก การพยากรณ์อากาศ พยากรณ์เที่ยวบิน ควอนตัมเซ็นเซอร์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการทหาร เช่น โดรนทางการทหาร การสกัดกันขีปนาวุธแม่นยำสูง

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างแรงและเร็วในอนาคตอันใกล้ การทำ Solution Provider จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก การออกแบบอัลกอริทึม รวมเข้ากับระบบ AI และ Machine Learning เพื่อแก้ปัญหามากมายสามารถทำได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น สิ่งที่เราต้องศึกษาต่อไป คือ Quantum Technology และ Metaverse Technology จะหลอมรวมกันอย่างไร และมีนัยยะอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ วิถีชีวิตและสังคม รวมทั้งระบบการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

สำหรับโอกาส ความเสี่ยง และความวิตกกังวลจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลว่า

ประการแรก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจะพลิกผันและทำลายล้าง ปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ในบางกิจการอย่างรุนแรง ผู้ที่ปรับตัวช้าหรือไม่เตรียมการรับมือทั้งโอกาสและความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงและนำมาสู่การปรับลดการจ้างงานในช่วงสามปีข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและโฆษณา ธุรกิจอุตสาหกรรมธนาคาร การเงินและการธนาคาร ธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กิจการค้าปลีกขนาดเล็กและขนาดกลาง กิจการทางด้านการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ Gen AI จะเกิดโอกาสอย่างมากในทางธุรกิจ สร้างงานใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายและเปลี่ยนแปลงสังคมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาล พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก หากไม่มีการออกกฎระเบียบหรือระบบภาษีที่เท่าทันต่อพลวัตเหล่านี้ การออกแบบระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความจำเป็นในยุคเทคโนโลยี Ai ครองโลก

ประการที่สอง ความเสี่ยงและความวิตกกังวลของแรงงานมนุษย์ การเพิ่มความคุ้มครองแรงงานมนุษย์จากการคุกคามของเทคโนโลยีมีความจำเป็นแต่การคุ้มครองต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สมองอัจฉริยะเอไอจะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้นตามลำดับ กิจการจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่างเช่น หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และอาจส่งผลให้เลิกจ้างงานพนักงานจำนวนมากโดยเฉพาะงานผลิตซ้ำต่าง ๆ ที่มูลค่าต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะเผชิญกับความเสี่ยง ด้วยเทคโนโลยีเดิมก่อนการเกิดขึ้นของ Gen AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องนี้จะกระทบต่อประเทศไทยไม่มาก เนื่องจากไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่จะมีคนบางกลุ่มไม่มีทักษะมากพอในการทำงานในระบบการผลิตแบบใหม่ ซึ่งภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ สำหรับประเทศที่มีโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมชราภาพอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มต้องนำเข้าแรงงานมนุษย์จำนวนมากจะได้ประโยชน์จากการใช้ระบบ AI

ประการที่สาม ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่าง ๆ อย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) จำนวนมาก ๆ ได้พร้อมกัน เรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง

ประการที่สี่ วิถีชีวิตแบบดิจิทัลและผลข้างเคียงเชิงพฤติกรรม สังคม และเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกันลดลง แอฟพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย และเกมเสมือนจริงต่าง ๆ กระตุ้นความสนใจและช่วยให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจนผู้ใช้อยู่กับหน้าจอวันละหลายชั่วโมง ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบพบปะสังสรรค์แบบดั้งเดิมลดลง การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีพฤติกรรมเสพติดสื่อสังคมออนไลน์และอยู่หน้าจอนานเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและขาดการทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิต ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้กิจกรรมประจำวันสะดวกยิ่งขึ้นและออกแรงน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของใช้ให้ส่งถึงบ้านไปจนถึงเดินทางโดยอาศัย Google Map ขณะเดียวกันเป็นผลให้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปจนทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า AI and Automation Bias ขึ้นได้ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการบริหารกิจการและในชีวิตประจำวัน

ประการที่ห้า สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ก้าวเข้าแทนที่สื่อแบบดั้งเดิม สื่อใหม่เหล่านี้สามารถกุมอำนาจกำหนดมุมมองและสร้างกระแสความคิดที่มีอิทธิพลทางสาธารณะได้ เทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และ Gen AI ที่สามารถเลียนเสียง หน้าตา และพฤติกรรมของบุคคลได้อย่างสมจริงจะทำให้เราแยกข้อเท็จจริงกับเรื่องลวงได้ยากขึ้น การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้และดูสมจริงอย่างยิ่งซึ่งเรียกกันว่า Deep Fake ความสามารถของเทคโนโลยี AI ช่วยให้ปลอมเสียงและวิดิโอเหมือนเป็นของจริง เราต้องหาวิธีในการปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ Deep Fake เหล่านี้ การส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นได้ง่าย โดยทางยูเนสโก (UNESCO) ได้จำแนกออกมาว่า ประกอบไปด้วย ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารเท็จที่จงใจสร้างขึ้น ข้อมูลผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดผลาดไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการแสวงหาข้อมูลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารลวง สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานข้อมูลจริงบางอย่าง เจตนาของข้อมูลแบบ Disinformation ก็ดี ข้อมูลแบบ Malinformation ก็ดี ล้วนจงใจสร้างขึ้นเพื่อโจมตีใส่ร้ายทำลายเป้าหมายให้เกิดความเสียหาย

ประการที่หก การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่าง ๆ โดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ

ประการที่เจ็ด เกิดข้อมูลมหาศาลและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อมูลขนาดใหญ่และฐานความรู้ดิจิทัลเร่งให้เกิดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ MOOC (Massive Open Online Courses) เติบโตอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และสามารถให้ AI วางแผนการอบรมออนไลน์และช่วยสอนได้ แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบนิเวศเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ โดยทำให้ฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ บริษัทลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นเชื่อมต่อกันสนิทและทำให้การสื่อสารและการทำธุรกรรมไม่มีขีดจำกัดลดลงอย่างมาก

ประการที่แปด ชีวิตที่สุขสบายขึ้น ชีวิตอัจฉริยะ และยืนยาวขึ้น เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว เมื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้กับด้านสุขภาพช่วยให้ AI ค้นพบยาชนิดใหม่และการรักษาที่แม่นยำ ความรู้ทางด้านพันธุกรรมขั้นสูงและโครงสร้างยีน ทำให้มนุษย์ปรับแต่งโครงสร้างยีนเพื่อป้องกันและรักษาโรคพันธุกรรมได้ ประสาทเทคโนโลยีและสมองกลทำให้รักษาภาวะความบกพร่องของสมองได้

ประการที่เก้า การเพิ่มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Smart Grid และพลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและมีการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรม AI ช่วยลดการสูญเสียตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกวัสดุทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปันได้ง่ายขึ้นภายใต้เทคโนโลยีใหม่

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมผ่านการแบ่งปัน (Sharing) ผ่านแนวคิดสังคมเครือข่ายความร่วมมือ (Collectivism) วิกิพีเดีย (Wikipedia) เป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนถึงแนวคิดแบ่งปันและแนวคิดสังคมเครือข่ายความร่วมมือ วิกีพีเดียเป็นชุดข้อมูลเอกสารเป็นแหล่งความรู้ที่ผู้คนช่วยกันสร้างขึ้นมา ใครก็ได้และทุกคนสามารถเขียนเพิ่ม แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนข้อความได้ วาร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) ผู้สร้างวิกิพีเดียซึ่งเป็นเว็บระบบทำงานร่วมกัน (Collaborative) มีสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเกื้อหนุนให้ผู้คนยินยอมให้ใช้สิทธิ์ในรูปภาพ ข้อความ หรือผลงานเพลงของตัวเองและดัดแปลงแก้ไขได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตอีก พูดอีกอย่างก็คือ การแบ่งปันเนื้อหาและการแจกจ่ายตัวอย่างเนื้อหาเป็นตัวเลือกใหม่ในการตั้งค่ามาตรฐาน การขยายตัวของเว็บไซต์แบ่งปันไฟล์งานเกิดขึ้นมากมายหลังการเกิดขึ้นของ วิกิพีเดีย เช่น ทอร์ หรือ TOR (The Onion Router), เรดดิต (Reddit), พินเทอเรสต์ (Pinterest), ทัมเบลอร์ (Tumblr) เป็นต้น เว็บไซต์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกรองด้วยความร่วมมือกันจากผู้ใช้เพื่อส่งเสริมสิ่งใดก็ตามที่ดีที่สุดในขณะนั้น เกือบทุกวันจะมีบริษัทเปิดใหม่สักแห่งหนึ่งออกมาแนะนำแนวทางใหม่ ๆ อย่างภูมิใจที่จะนำพลังจากความร่วมมือของชุมชนออนไลน์มาใช้ประโยชน์ การพัฒนาเหล่านี้แสดงให้เห็นทิศทางที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ “สังคมนิยม” และ “สังคมเครือข่าย”

สังคมนิยมแบบดิจิทัลโดยใช้เศรษฐกิจแบบเครือข่ายแบ่งปันกันนั้นต่างจากระบบสังคมนิยมที่ใช้การสั่งการโดยรัฐบาลแบบบนลงล่างที่มีลักษณะแบบวางแผนจากศูนย์กลาง มีลักษณะที่เราเรียกว่า Centralized and Command Economy แต่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ (Distributed and Decentralized Economy) สังคมนิยมแบบดิจิทัลจึงมีรากฐานจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน หน่วยเศรษฐกิจหรือผู้คนสามารถประสานความร่วมมือกันได้อย่างเหนียวแน่น การสื่อสารและการทำงานแบบเครือข่ายก่อให้เกิดสังคมแบบกระจายศูนย์แบบสุดขั้วแทนที่จะใช้การรวบรวมผลผลิตในระบบนารวมแบบในประเทศสหภาพโซเวียตหรือประเทศจีนในสมัยเหมา เจ๋อ ตุง ก็ใช้เทคโนโลยีรวบรวมผลงานของทุกคนผ่านเครือข่ายทางด้านไอทีที่เชื่อมโยงกัน สามารถแบ่งปันข้อมูล ผลงานต่าง ๆ กันได้ เป็นลักษณะการทำงานโดยหน่วยย่อยโดยกลุ่มคนรวมตัวกันเป็นชุมชนจัดการบริหารและจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันที่เราอาจเรียกว่าเป็น Peer Production เมื่อผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์หรือที่ดิน พยายามทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันและแบ่งปันผลผลิตกันจนเป็นภาวะปรกติในระบบเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมแรงร่วมใจในการไม่รับตอบแทนจากปัจจัยการผลิตหรือค่าจ้าง พร้อมกับพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับตอบแทนโดยไม่ต้องจ่ายเงิน เราย่อมเรียกระบบเศรษฐกิจดังกล่าวว่า มีลักษณะความเป็นสังคมนิยมอยู่แต่เป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบดิจิทัล ซึ่งนักวิชาการบางท่านเรียกว่าเศรษฐกิจแบบแบ่งปันนั่นเอง ในโลกสังคมออนไลน์นั้นผู้คนต่างแบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร ภาพถ่ายกันมากมาย นอกจากนี้ยังมีโพสต์อัปเดตสถานะ การระบุตำแหน่งบนแผนที่ มีคลิปวิดิโอมากมายที่ถูกโพสต์ในยูทูบ เราเห็นเนื้อหาต่าง ๆ ถูกแบ่งปันเกิดขึ้นโดยทั่วไปอันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิทัลที่ยังอยู่ภายใต้ระบบรวมศูนย์ (Centralized System) ได้สร้างอำนาจผูกขาดให้กับผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์ม ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันแบบดิจิทัลมีปัญหาความเป็นธรรมในแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากอำนาจผูกขาด และนี่เป็นเหตุผลว่า รัฐทำไมจึงต้องเข้ามากำกับให้เกิดความเป็นธรรม และส่งเสริมการแข่งขันมากขึ้น การแบ่งปันของชุมชนออนไลน์สามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้เหมือนเป็นการร่วมกันทำงาน (Cooperation) เว็บไซต์อย่าง เรดดิต และ ทวิตเตอร์ อาจสร้างการชี้นำความคิดของประชาชนได้มากกว่าหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่ โลกออนไลน์ในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล เครือข่ายที่ทำงานร่วมกันย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าผลงานที่ต่างคนต่างทำ การร่วมกันทำงานแบบเครือข่ายออนไลน์นั้นเป็นการทำงานข้ามพรมแดนรัฐชาติและมีลักษณะเป็นนานาชาติ ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมเครือข่ายความร่วมมือ (Collectivism) และประสานความร่วมมือเชิงลึก (Collaboration)

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้การแบ่งปันในระบบเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นในขอบเขตกว้างขวางและขยายตัวอย่างก้าวกระโดดผ่านสังคมเครือข่ายความร่วมมือ มีคนมาช่วยกันทำงานเป็นกลุ่มทางออนไลน์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น วิกิพีเดียก็มีผู้ใช้ลงทะเบียนเกือบ 25 ล้านคนเข้ามาช่วยสร้างเนื้อหาโดยมีผู้เขียนประจำอยู่มากกว่า 150,000 ราย อินสตาแกรมมีผู้ใช้ที่เข้าโพสต์เป็นประจำมากกว่า 350 ล้านคน แต่ละเดือนมีกลุ่มมากกว่า 700 ล้านกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในเฟซบุ๊ก (Facebook) เว็บไซต์แบบเรดดิต (Reddit) ใช้เทคนิค Collaborative Filtering เพื่อคัดเลือกหัวข้อที่อยู่ในกระแสสนใจนั้น มีผู้เข้าชมที่ไม่ใช่บุคคลซ้ำกัน (Unique Visitors) มากถึง 170 ล้านคนต่อเดือนและมีชุมชนออนไลน์ที่ทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันมากกว่า 15,000 ชุมชน Youtube มีผู้ใช้บริการมากกว่า 2 พันล้านคนต่อเดือน ซึ่งผู้ใช้บริการเหล่านี้ต่างเป็นผู้ช่วย Youtube ในการสร้างชุมชนขนาดใหญ่ด้วยการผลิตวิดิโอและนำวิดิโอมาโพสต์ลงบนยูทูบ Youtube จึงเป็นกลายเป็นสื่อที่เป็นคู่แข่งของสถานีโทรทัศน์และบริษัทโฆษณาทั้งหลาย เศรษฐกิจแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์นั้นถูกขับเคลื่อนและดำเนินไปโดยแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนสำคัญของกิจการ ผู้คนเป็นพันล้านคนใช้เวลามากมายในแต่ละวันเพื่อสร้างเนื้อหาให้เฟซบุ๊กฟรี ๆ โดยรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ แสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมโพสต์รูปภาพต่าง ๆ โพสต์วิดิโอต่าง ๆ สิ่งที่อาจจะพิจารณาว่าเป็นค่าจ้างได้ก็คือ การสื่อสารถึงกลุ่มคนต่าง ๆ และความสัมพันธ์ใหม่ หากโพสต์มีคนเข้าชมหรือมีส่วนร่วมมากพอก็อาจได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาเพียงเล็กน้อยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมในเงื่อนไขที่เหมาะสม ในอนาคตการแบ่งปันข้อมูลอาจจะขยายยัง ข้อมูลการเงินส่วนบุคคล ปัญหาสุขภาพ หรือชีวิตส่วนตัว ก็ได้

นโยบาย Digital Economy ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ

(Product and Service) ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว ดังนั้นนโยบาย Digital Economy จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย และการทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว

นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดั้งเดิมสามารถล่มสลายได้ในพริบตานั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี:ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรหากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจก้าวหน้าและเติบโต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมียุทธศาสตร์

โดยมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ (AI) และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ได้มากขึ้น สามารถทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีจากที่ไหนก็ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ ลูกจ้างก็ต้องได้รับเวลาพัก รวมถึงค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลา (โอที) ตามปกติ และที่สำคัญเมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานในแต่ละวันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมแชตหรือโทรศัพท์ก็ตาม โดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดได้ปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และแรงงานทั้งระบบ เพื่อให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และหลายอย่าง AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งเป็นงานเฉพาะและมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และสามารถช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นได้ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดี เป็นต้น ควรยกเลิกแนวทางการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ค่าแรงถูกเพื่อดึงดูดการลงทุน การกดค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรวัยหนุ่มสาวไม่มากและเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชันดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้งใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำ และเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งหลายภายใต้เศรษฐกิจแบบดิจิทัลสามารถทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการแบ่งขั้วในสังคมเพิ่มขึ้นก็ได้ ลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไปในทางไหนและด้วยการกำกับดูแลทั้งทางนโยบายอย่างไร หรือกลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปอย่างไร ทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีผลทำให้เกิดการแบ่งขั้วด้านอาชีพมากขึ้น อัตราการเติบโตของค่าตอบแทนระหว่างผู้บริหารระดับสูง กับอัตราการเติบโตของค่าตอบแทนของคนงานทั่วไปถ่างกว้างมากขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับแรงงานที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ แรงงานที่ไม่มีทักษะในเรื่องดังกล่าว ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้บรรษัทข้ามชาติเครื่องย้ายฐานงานทักษะต่ำเกือบทั้งหมดไปยังดินแดนที่มีแรงงานทักษะต่ำจำนวนมากและมีค่าแรงถูก เศรษฐกิจดิจิทัลมีการนำเทคโนโลยีและระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมาแทนที่แรงงานมนุษย์ที่ทำงานแบบซ้ำ ๆ โดยไม่ต้องใช้ทักษะการแบ่งขั้วทางด้านอุดมการณ์ความคิดและวิถีชีวิตอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ขึ้นอยู่กับมีการใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางใด

เมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องช่องว่างดิจิทัล เนื่องจาก “ช่องว่างดิจิทัล” จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง เวลาเราพูดถึงช่องว่างดิจิทัล เรามักหมายถึงช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถทางการเงิน ฐานะทางเศรษฐกิจ ทักษะและศักยภาพของบุคคลที่แตกต่างกันอีกด้วย เราจึงเห็นความแตกต่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ระหว่างพื้นที่ในเมืองใหญ่กับชนบท ความไม่สามาถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ การศึกษาข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ความไม่เท่าเทียมใน การเข้าถึง การใช้ และผลกระทบจากเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในระยะต่อมา ทำให้ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” หรือ Digital Divide ซึ่งแปลความให้ง่ายก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

ศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอยู่ในระดับไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ของประชาชนส่วนใหญ่ หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ไม่ถึง 25% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 49% และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 38% ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน 68% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 55% และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 44% ในปี 2563

การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทยครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียง 3% ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 19% ของครัวเรือนทั้งหมด ความไม่เท่าเทียมจากการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยและผู้คนทั้งโลกเกิดจากปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ

ประการที่หนึ่ง เกิดจากช่องว่างในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี (วัดจากจำนวนและการกระจายตัวของเทคโนโลยี เช่น จำนวนโทรศัพท์

จำนวนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น)

ประการที่สอง เกิดจากช่องว่างจากความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (วัดจากทักษะและปัจจัยเสริมอื่นๆ)

ประการที่สาม เกิดจากช่องว่างที่มีผลกระทบต่อการใช้งาน (วัดจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือการวัดผลด้านอื่น

ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาของ “ช่องว่างทางดิจิทัล” เหล่านี้เป็นอย่างดี และเกือบทุกประเทศได้พยายามแก้ไขเพื่อทำให้ช่องว่างเหล่านี้แคบลง หลายประเทศสามารถลดช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศอีกจำนวนมากรวมทั้งประเทศไทยเองต่างยังไม่สามารถก้าวข้ามช่องว่างนี้ไปได้ ช่องว่างทางดิจิทัลมีวิวัฒนาการต่อเนื่องตามกาลเวลาที่ผ่านไปและตามประเภทของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ เทคโนโลยีทุกประเภทที่ถูกนำมาใช้ต้องใช้เวลาใน การแพร่กระจาย (Diffusion) เทคโนโลยีบางประเภทสามารถถูกซึมซับและแพร่กระจายได้รวดเร็ว ขณะที่เทคโนโลยีบางประเภทต้องใช้เวลาหลายปีหรือหลายสิบปีจึงจะถึงจุดอิ่มตัวและเข้าถึงคนส่วนใหญ่ ช่องว่างทางดิจิทัลมิใช่เป็นช่องว่างเชิงเดี่ยว (Single divide) แต่เป็นช่องว่างหลายมิติ เช่น เกิดขึ้นระหว่างประเทศ เกิดขึ้นระหว่างเพศ เกิดขึ้นระหว่างวัย ฯลฯ

กรณีของไทยหากพิจารณางบประมาณทั้งปี 2568 และ 2569 ต้องเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลและไอซีทีใก้มากขึ้น ขณะเดียวกันหากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางทางด้าน Data Center ต้องเตรียมพร้อมทางด้านทักษะแรงงาน ทำให้ค่าน้ำค่าไฟฟ้าถูกลง เพียงพอต่อการใช้งานในทุกภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าจากการลงทุนโครงการทางด้าน Data Center

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top