นับถอยหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ คาดจัดงานฉลองอลังการ

โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง และถือเป็นการกลับสู่เวทีการเมืองที่น่าทึ่งที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกัน

ตามประเพณีแล้ว วันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องของพิธีการ เพื่ออำลาประธานาธิบดีคนหนึ่ง และต้อนรับอีกคนหนึ่งเข้าสู่ทำเนียบขาว

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้นำเสนอสิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยคาดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันสาบานตนของทรัมป์มีดังนี้:

 

พิธีสาบานตนเริ่มเวลาใด

ทรัมป์จะกล่าวคำสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการโดยจอห์น โรเบิร์ต ประธานศาลฎีกาสหรัฐฯ ในเวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (24.00 น.ตามเวลาไทย) ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ และจากนั้นทรัมป์จะกล่าวสุนทรพจน์

ด้านโจ ไบเดน ซึ่งกำลังจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เปิดเผยว่า เขาวางแผนที่จะเข้าร่วมพิธีและเป็นสักขีพยานในการถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งเป็นมารยาทที่ทรัมป์ไม่ได้แสดงต่อไบเดนเมื่อสี่ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ชมหลายพันคนที่ไม่มีบัตรเชิญเข้าร่วมในพิธี จะเดินทางกันมาจนเต็มเนชันแนลมอลล์ (National Mall) และชมพิธีการผ่านจอวิดีโอขนาดใหญ่

 

ใครได้รับเชิญ

ทรัมป์ได้แหวกธรรมเนียมปฏิบัติและเชิญผู้นำต่างประเทศหลายคนมาร่วมพิธี ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว ผู้นำต่างประเทศไม่ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตน เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย และได้ส่งเจ้าหน้าที่ทูตมาเป็นตัวแทน

รายงานระบุว่า ฮาบิเอร์ มิเลย์ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาผู้สนับสนุนคนสำคัญของทรัมป์ กล่าวว่าจะเดินทางมาเข้าร่วมพิธี เช่นเดียวกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

ขณะที่วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีซึ่งเป็นอีกคนที่สนับสนุนทรัมป์ กล่าวว่า เขากำลังพิจารณาที่จะเดินทางมาร่วมพิธี ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่น่าจะมาร่วมงานแม้ได้รับเชิญก็ตาม

 

ขบวนพาเหรดสู่ทำเนียบขาว

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบรรดาผู้นำสภาคองเกรสที่อาคารรัฐสภาแล้ว ทรัมป์จะเดินทางไปยังทำเนียบขาว โดยขบวนรถของทรัมป์จะแล่นไปบนถนนเพนซิลเวเนีย พร้อมด้วยขบวนของกองทหาร วงดนตรีของโรงเรียน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ

 

เริ่มปฏิบัติหน้าที่

ทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เวลาในช่วงบ่ายลงนามในคำสั่งบริหารมากกว่า 20 ฉบับ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา โดยคาดว่าเขาจะลงนามในคำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมากขึ้นในการจับกุมผู้อพยพที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม ส่งทหารเพิ่มเติมไปยังชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก และเริ่มการก่อสร้างกำแพงชายแดนอีกครั้ง

คำสั่งดังกล่าวจะรวมถึงการผลักดันเพื่อเพิ่มการผลิตพลังงานและดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียง

นอกจากนี้ คาดว่าทรัมป์อาจจะออกคำสั่งอภัยโทษรอบแรกให้กับจำเลยที่ถูกรัฐบาลกลางตัดสินว่ามีความผิดโทษฐานมีส่วนร่วมในการบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564

 

ใครจ่าย

ในคืนนั้นจะมีงานเลี้ยงฉลองหลายงานจัดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงวอชิงตัน ซึ่งทรัมป์อาจจะเข้าร่วมบางงาน

งานฉลองอย่างเป็นทางการเหล่านี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการจัดงานฉลองการรับตำแหน่งของทรัมป์ โดยมีสตีฟ วิตคอฟฟ์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเคลลี โลฟเฟอร์ อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของทรัมป์ เป็นประธานคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนด้านการเงินยังประกอบไปด้วยบริษัทอเมซอนดอทคอม (Amazon.com) ของเจฟฟ์ เบซอส และบริษัทเมตา แพลตฟอร์ม (Meta Platforms) ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งจะบริจาคบริษัทละ 1 ล้านดอลลาร์ให้กับคณะกรรมการ เช่นเดียวกับทิม คุก ซึอีโอของบริษัทแอปเปิ้ล (Apple) และแซม อัลท์แมน ซีอีโอของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) ซึ่งบริจาคคนละ 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนนี้

คณะกรรมการของทรัมป์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดยกเว้นพิธีสาบานตนที่อาคารรัฐสภา ซึ่งจะใช้เงินจากภาษีประชาชน

ทั้งนี้ ในการรับตำแหน่งสมัยแรกเมื่อปี 2560 ทรัมป์สามารถระดมทุนได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 106.7 ล้านดอลลาร์สำหรับงานเฉลิมฉลองการรับตำแหน่ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top