Apollo เล็งทุ่มเงิน 9.5 พันล้านดอลล์ ร่วมวงซื้อกิจการ Seven & i

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (10 ม.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า อพอลโล โกลบอล แมเนจเมนท์ (Apollo Global Management) ยักษ์ใหญ่ด้านไพรเวทอิควิตี้จากสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเข้าถือหุ้นเป็นจำนวนมากในแผนการเทกโอเวอร์บริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ (Seven & i Holdings) ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น จากญี่ปุ่น เพื่อนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า อพอลโลกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงขันมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านเยน (9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อถือหุ้นในกิจการเซเว่น

ภายใต้โครงร่างข้อเสนอในปัจจุบันซึ่งยังอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนั้น อพอลโลจะเข้าร่วมกับตระกูลอิโตะ (ผู้ก่อตั้งเซเว่น แอนด์ ไอ) และบริษัทอีโตชู (Itochu) ผู้บริหารร้านแฟมิลี่มาร์ทในญี่ปุ่น ในฐานะนักลงทุนรายสำคัญ โดยตระกูลอิโตะวางแผนลงทุนราว 5 แสนล้านเยน และอีโตชูจะลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านเยน ขณะที่พันธมิตรรายอื่น ๆ ยังคงเจรจาต่อรองเรื่องสัดส่วนการลงทุน

ข้อเสนอในขณะนี้ระบุว่า เม็ดเงินลงทุนในส่วนทุนจะรวมกันราว 4 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าอพอลโลจะได้อำนาจควบคุมเสียงข้างมาก เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการเจรจา

แหล่งข่าวระบุว่าเงินทุนส่วนที่เหลือจะมาจากกลุ่มธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่นได้แก่ ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Sumitomo Mitsui Financial Group), มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group) และมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Mizuho Financial Group)

แต่เดิมนั้น มูลค่าการเข้าซื้อกิจการตั้งเป้าไว้ที่ 9 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงกว่าข้อเสนอมูลค่า 7.5 ล้านล้านเยนจากอาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ (Alimentation Couche-Tard) ของแคนาดา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวอาจถูกปรับลดลง เนื่องจากมูลค่าตลาดของเซเว่น แอนด์ ไอ ยังคงต่ำกว่าข้อเสนอทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ โดย ณ วันนี้ (10 ม.ค.) มูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 6.3 ล้านล้านเยน หลังจากราคาหุ้นปรับตัวลงจากผลประกอบการไตรมาส 3/2567

หุ้นเซเว่น แอนด์ ไอ พุ่งขึ้นต่อเนื่องในวันนี้ โดยปิดตลาดเพิ่มขึ้น 4.86% ภายหลังจากที่บลูมเบิร์กรายงานความคืบหน้าในการเจรจา

แหล่งข่าวระบุว่า รายละเอียดของข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการลงทุน สัดส่วนสิทธิออกเสียง และองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา

กลุ่มผู้บริหารที่ต้องการซื้อกิจการเซเว่น แอนด์ ไอ กำลังเร่งสรุปข้อเสนอเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือคูช-ตาร์ ซึ่งความสนใจเข้าซื้อกิจการอย่างไม่เป็นมิตรของคูช-ตาร์ได้สร้างความระส่ำระสายให้กับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว

นอกเหนือจากแผนถอนหุ้นออกจากตลาดแล้ว เซเว่น แอนด์ ไอ ยังได้ประกาศแผนปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่เพื่อแยกธุรกิจร้านสะดวกซื้อออกจากธุรกิจค้าปลีกส่วนอื่น ๆ ที่มีผลประกอบการไม่แข็งแกร่ง โดยให้คำมั่นว่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับส่วนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

การเสนอซื้อกิจการที่นำโดยตระกูลอิโตะครั้งนี้จะถูกจารึกเป็นหนึ่งในดีลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการรวมพลังของภาคธุรกิจญี่ปุ่น เพื่อรักษาหนึ่งในบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศไม่ให้ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top