นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ [SCB] เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้ สินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐ น่าจะมีผลตอบแทนเป็นบวกอีกได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวดีกว่าประเทศหลักอื่น สะท้อนจากเลขเศรษฐกิจ ทั้งตลาดแรงงาน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะลดดอกเบี้ยช้าลง โดยคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีกเพียง 50 bps ในปีนี้ สอดคล้องกับใน Dot plot ล่าสุดของ Fed และที่ตลาด Price-in ซึ่งจะน้อยกว่าในปี 256 ที่ Fed ลดดอกเบี้ยถึง 100 bps
- คาดดัชนีเงินดอลลาร์ ยังแข็งค่าต่อได้ในช่วง H1/68
แม้เงินจะแข็งค่าขึ้นมากแล้วในปีก่อน เนื่องจากตลาดอาจยังอยู่ในโหมด Wait-and-see ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์ต่อได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง เงินดอลลาร์สหรัฐอาจกลับมาอ่อนค่าจาก Valuation ที่สูงมากแล้ว และเงินทุนที่อาจไหลออกจากสหรัฐฯ สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นายแพททริก มองว่า Treasury yields ปรับลดลงอีกเล็กน้อย ตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และ Curve มีแนวโน้มชัน (Steepen) ขึ้น จาก Yields ระยะสั้นที่ลดลงมากกว่า
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะปรับสูงขึ้นมามากในปีที่แล้ว แต่ยังมองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่น่าจะได้มีการใช้ AI มากขึ้น (Adoption) และกลุ่มอื่น ๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการดูแล (Regulation) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดน้อยลง เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน
- เงินยูโร-เงินหยวน แนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในปีนี้
โดยเงินยูโรอาจอ่อนค่า จากเศรษฐกิจยุโรปที่น่าจะยังอ่อนแอจากภาคการผลิตที่หดตัว การแข่งขันจากประเทศจีนที่สูงขึ้น มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่อาจลดลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางยุโรป ECB) จะยังลดดอกเบี้ยลงแรงได้ โดยนายแพททริก มองว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยอีกต่อเนื่องถึง 125 bps ในปีนี้ ซึ่งอาจทำให้เงินยูโรอาจลงไปใกล้ระดับ 1.00 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปี
สำหรับเงินหยวนจะยังอ่อนค่าลงต่อ แม้ทางการจีนน่าจะออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยคาดว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ Required reserve ratio ลง อีกทั้งทางการอาจใช้มาตรการที่เน้นกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น โดยได้ตั้งเป้าขาดดุลการคลังสูงขึ้น และคาดว่าจะออกพันธบัตรรัฐบาลกลาง และท้องถิ่นเพิ่ม เพื่อสนับสนุนโครงการต่างมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนน่าจะยังอ่อนแอจากความเสี่ยงหลายด้าน อีกทั้งทางการจีนอาจตั้งใจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าขึ้น เพื่อเป็น Cushion ต่อการส่งออกที่มีแนวโน้มแย่ลง จึงมองว่าเงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 7.50 หยวน/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้
- จับตา “เงินเยน” สกุลหลักเดียวที่แนวโน้มกลับมาแข็งค่าใน Q2/68
เงินเยน อาจเป็นเพียงสกุลหลักเดียว ที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงไตรมาส 2 จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หากเงินเฟ้อ และค่าแรงญี่ปุ่นยังสูงตามที่คาด นอกจากนี้ มาตรการของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นจำกัด เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่กว่า 39 ล้านล้านเยน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน
ทั้งนี้ ในระยะสั้นหรือช่วงไตรมาสแรก เงินเยนน่าจะยังอ่อนค่าจากดัชนีเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่า ตามนโยบาย Fed ที่จะยังค่อนข้างตึงตัว (Hawkish) และกว่าที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยได้ อาจต้องรอถึงเดือน เม.ย. เพื่อรอดูแนวโน้มการขึ้นค่าแรง (Shunto) ในประเทศ
- เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วง H1/68
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ [SCB] เปิดเผยว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปี จากดอลลาร์ที่ยังแข็งค่า และนโยบายการเงินไทยที่ผ่อนคลายขึ้น โดยแรงกดดันด้านอ่อนค่า อาจมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าตามธีม US Exceptionalism ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งกว่าประเทศหลักอื่น อีกทั้งเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากสกุลเงินอื่น เช่น เงินยูโรและเงินหยวน ทำให้บาทอ่อนค่าตาม
สำหรับปัจจัยในประเทศที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่โตชะลอลง ตามการบริโภคและส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอ จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปแตะระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ดี มองว่ามีโอกาสที่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับ Valuation ของเงินดอลลาร์ที่สูงมากแล้ว อีกทั้งมองว่าราคาทองอาจปรับสูงขึ้นได้ต่อ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่กรอบ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 68)
Tags: SCB, ธนาคารไทยพาณิชย์, วชิรวัฒน์ บานชื่น, เงินบาท, แพททริก ปูเลีย