การส่งออกน้ำมันดิบทั่วโลกลด 2% ในปี 67 เหตุดีมานด์ชะลอตัว-เส้นทางการค้าเปลี่ยน

ข้อมูลด้านการขนส่งบ่งชี้ว่า ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2567 ลดลง 2% ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการที่ชะลอการขยายตัว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโรงกลั่นและท่อส่งน้ำมัน ทำให้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการค้าน้ำมัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การหมุนเวียนของน้ำมันดิบทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบเป็นปีที่สองจากสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง โดยการขนส่งทางเรือได้ถูกปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยผู้ผลิตและผู้ซื้อได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ขณะที่การส่งออกน้ำมันจากตะวันออกกลางไปยังยุโรปลดลง และน้ำมันจากสหรัฐฯ และอเมริกาใต้ไหลเข้าสู่ยุโรปมากขึ้น ส่วนน้ำมันจากรัสเซียที่เคยส่งไปยังยุโรปได้ถูกเปลี่ยนเส้นทางไปยังอินเดียและจีน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นจากการปิดตัวของโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในยุโรปท่ามกลางการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อการขนส่งผ่านทะเลแดง โดยบริษัทวิจัย Kpler เปิดเผยข้อมูลการติดตามเรือระบุว่า การส่งออกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางไปยุโรปทรุดลง 22% ในปี 2567

“การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าน้ำมันกำลังสร้างพันธมิตรเชิงโอกาส” อาดี อิมซิโรวิช ที่ปรึกษาด้านพลังงานและอดีตนักค้าน้ำมันกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างรัสเซียและอินเดีย รวมถึงจีนและอิหร่านซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงการค้าน้ำมัน

“น้ำมันไม่ได้ส่งไปตามเส้นทางที่มีต้นทุนต่ำสุดอีกต่อไป ซึ่งผลที่ตามมาคือการขนส่งทางเรือที่ตึงตัวขึ้น ทำให้ค่าระวางเรือสูงขึ้น และในที่สุดก็ทำให้กำไรจากการกลั่นน้ำมันลดลง” อิมซิโรวิชกล่าวเสริม

สหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นผู้ชนะในการค้าน้ำมันโลก โดยสามารถส่งออกน้ำมันได้วันละ 4 ล้านบาร์เรล และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดการค้าน้ำมันโลกเป็น 9.5% ตามหลังเพียงซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย

ในปี 2568 บรรดาซัพพลายเออร์จะยังคงเผชิญกับความต้องการเชื้อเพลิงที่ลดลงของศูนย์กลางการบริโภคหลัก ๆ เช่น จีน นอกจากนี้ หลายประเทศจะใช้น้ำมันน้อยลง และจะหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 68)

Tags: ,
Back to Top