PTT จัดงบ 2 แสนลบ.ลงทุน 5 ปี เดินหน้าพลังงานสะอาดในไทย เชื่อปีนี้อุตฯรอดภัยแล้งแต่ต้องเร่งแผนรับมือระยะยาว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.ยืนยันต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการพบหารือเมื่อวานนี้ โดยกลุ่มปตท.เตรียมเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปี(63-67) เพื่อลงทุนเรื่องพลังงานสะอาดในไทย เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง
ส่วนบมจ.ไทยออยล์ (TOP) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น โดยจะอัพเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล ขณะที่ปตท.ก็ดำเนินการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ และคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของเชื้อเพลิงรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ปตท.ยังมีโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจาก LNG ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องด้วย จากการที่ปตท.ได้เข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และยังรอความชัดเจนการได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ด้วย
ส่วนการที่ทั่วโลกจะลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic) ซึ่งกลุ่มปตท.ก็จะเปลี่ยนเม็ดพลาสติกที่ผลิตได้ในปัจจุบันเป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้นาน เป็นเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialties) มากขึ้น และการผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อรองรับการประหยัดพลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้กลุ่มปตท.ยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยส่งเสริมให้บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ไปลงทุนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาคลังสินค้า ,โรงงาน หรือสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงการส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้เกิดการขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่เพื่อรองรับการขายไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
“กลุ่มปตท.ยืนยันกับท่านว่าพร้อมจะลงทุนในไทยต่อเนื่อง เราจะลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาด ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอยู่แล้ว ใช้เงินลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาทใน 1-5 ปีนี้ บางโครงการกำลังเดินงานอยู่”
นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับเงินลงทุนดังกล่าวอยู่ในแผนลงทุน 5 ปีของกลุ่มปตท.อยู่แล้ว ขณะเดียวกันการลงทุนเฉพาะของปตท.ยังจัดงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกราว 2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล , การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มปตท.ยังได้นำเสนอความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นและอาจจะส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ แม้ว่าในระยะสั้นปีนี้เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ เพราะว่ามีการเชื่อมท่อเพื่อรองรับการผันน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่จ.จันทบุรี มาให้จ.ระยองในเบื้องต้น
แต่ในระยะยาวเห็นว่าควรจะเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
ส่วนการนำเข้า LNG ที่ปัจจุบันปตท.มีคลัง LNG อยู่แล้ว 1 แห่ง ขนาด 11.5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 1 แห่ง ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี แม้ว่าปัจจุบันจะการใช้คลังยังไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่การเตรียมความพร้อมดังกล่าวนับว่ามีความเหมาะสม เพื่อป้องกันการขาดแคลนก๊าซฯในอนาคต ที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยจะลดลง
โดยหากมีคลัง LNG ทั้ง 2 แห่ง คิดเป็นปริมาณรวม 19 ล้านตัน หรือราว 3 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก็น่าจะช่วยรองรับการใช้ในภาคไฟฟ้าและอุตสาหกรรมได้ในอนาคต เพราะปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯราว 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเคยใช้สูงสุดราว 5,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่การนำเข้า LNG สามารถนำเข้ามาได้ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ไทยมีพลังงานที่ค่อนข้างมั่นคง
อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้ก๊าซฯจากปตท. ทดลองนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองได้ในขณะนี้ก็สามารถดำเนินการได้ โดยการนำเข้านั้นต้องพิจารณาถึงสัญญาการซื้อขายก๊าซฯที่ปตท.มีในอ่าวไทย ,เมียนมา และสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวด้วย ซึ่งการนำเข้าของกฟผ.ควรจะให้ใช้เฉพาะโรงไฟฟ้าของกฟผ.เท่านั้น ไม่ควรไปขายให้แก่รายอื่น ซึ่งรวมถึงบริษัทลูกของกฟผ.ด้วย
“กฟผ.สามารถเอาก๊าซฯเข้ามาในความต้องการของตัวเองได้ แต่เวลาเข้ามาต้องมองเรื่องของสัญญาที่มีอยู่ในอ่าวไทยด้วย มองสัญญาที่เรามีอยู่ที่พม่าด้วย และมองที่รัฐให้เราไปทำ 4 สัญญาเดิมด้วย (LNG) การเอาเข้ามาเราทดสอบการนำเข้ามาแล้ว ตอนนี้กำลัง review กันอยู่ว่ามีปัญหาและจะแก้ปัญหาอย่างไร พอเริ่มต้นทำได้แล้วกฟผ.ก็ค่อยๆเอาเข้ามา แต่ไม่ควรเอาไปขายลูกค้าเรา มันไม่ถูก เข้ามาเพื่อโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง บริษัทย่อยไม่ได้เพราะบริษัทย่อยก็เป็นลูกค้าเรา ไม่ถูก ยกเว้นว่ารัฐจะประกาศให้เอกชนที่ทำไฟฟ้าเอาเข้ามาเองได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่าให้มีคนกลางมาเพื่ออย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ เพราะมีผลต่อค่าไฟฟ้า” นายชาญศิลป์ กล่าว
อนึ่ง วันนี้ปตท. ได้ส่งมอบสวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ให้กับกรมป่าไม้เพื่อดูแลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าต่อไป ขณะเดียวกันปตท.ยังได้เป็นประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ด้านการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า ภายใต้โครงการ OUR Khung Bangkachao เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมในการมุ่งสู่การยกระดับและพัฒนาพื้นที่ “คุ้งบางกะเจ้า”ให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนในทุกมิติ (Green Growth) มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตภายใน 5 ปี (62-66)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 63)
Tags: PTT, ปตท., พลังงานทดแทน, ภัยแล้ง, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, หุ้นไทย, ไทยออยล์