INTERVIEW: “อัสสเดช” เปิดไอเดีย!! ยกชั้นตลาดหุ้นไทยขึ้น Listing Hub ผลักดัน ESG เข้ามาตรฐานโลก

การก้าวเข้ามาของ นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการคนใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาพร้อมคาดหวังฟื้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาเฉิดฉาย ซึ่งได้รับการตอบสนองด้วยแผนกลยุทธ์ในช่วง 3 ปี (ปี 68-70) ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของแผนนี้ต้องการผลักดันตลาดหุ้นไทยให้เป็น Listing Hub ศูนย์กลางแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงการขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า

นายอัสสเดช ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอย่างมากด้าน Heathcare และ Wellness ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวของเราก็แข็งแรงมาก และอาหารไทยก็ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เราจะหยิบความโดดเด่นของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มาใช้ดึงดูดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้อย่างไร

ยกตัวอย่างสำคัญ คือ กลุ่ม Healthcare และ Wellness เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะประชากรในเอเชียมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคต ความต้องการยา โรงพยาบาล ผลิตภัณฑ์การดูแลตัวเองและรักษาโรค จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตและให้บริการในตลาดเอเชียได้หรือไม่ เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

“ถ้าเราอยากลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ นักลงทุนก็จะมาดูที่เมืองไทยเพราะที่นี่มีบริษัทเยอะ พอนักลงทุนเริ่มมาดูเยอะขึ้น บริษัทในประเทศอื่นๆ ที่ทำธุรกิจเดียวกันแทนที่จะไปจดทะเบียนตลาดหุ้นบ้านเขา เขาอาจจะได้ P/E 10 เท่า แต่มาดูตลาดไทยมี Scale นักลงทุนสนใจเยอะ ก็อาจจะได้ P/E 20 เท่า อาจจะเข้ามาระดมทุนที่บ้านเราแทน”นายอัสสเดช กล่าว

พร้อมทั้งระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังวางแผนอยู่ โดยจะต้องปรึกษาหารือกับ บจ.ที่อยู่ในกลุ่ม Healthcare ที่อาจจะให้คำแนะนำต่าง ๆ หรือมี Pain Point ใดบ้างที่จะต้องแก้ไข ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจที่อยู่ในตลาดนี้ด้วย เพื่อจะได้ตีกรอบการทำงานให้ชัดเจนมากขึ้น

*เล็งนำดัชนี FTSE Ressell ESG Rating ใช้แทน Thai ESG Rating

นายอัสสเดช กล่าวว่า ปัจจุบันเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องคาร์บอน และการดำเนินนโยบาย ESG เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเรื่องนี้จะยังเป็นเรื่องกดดัน บจ.ต่อไปข้างหน้าอีกแน่นอน โดยมีกฎเกณฑ์หลากหลายมาคอยบังคับ และยังจะต้องถูกเก็บภาษีคาร์บอนด้วย

บทบาทตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเรื่องนี้ได้วางแผนจะช่วยเหลือ บจ.เพราะทุกอย่างคือต้นทุน ไม่ว่าจะการวัด Carbon Footprint หรือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงวางแผนจะเป็นตัวกลางให้ในการให้ความรู้ เรื่องคาร์บอน เรื่องกฎหมาย เรื่องการวัดคาร์บอน รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มกลางมาใช้

และในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 69 ตลาดหลักทรัพย์จะเพิ่มมาตรฐานโลก คือจะนำ FTSE Ressell ESG Rating มาใช้แทน Thai ESG Rating เพื่อใช้เกณฑ์วัด ESG ตามมาตรฐานโลก ซึ่งเป็นดัชนีที่นักลงทุนทั่วโลกคุ้นเคย เมื่อถึงตอนนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมี ESG Data Platform โดยปัจจุบัน 78% ของบริษัทจดทะเบียนเริ่มใช้แล้ว

ทั้งนี้ ต้นปี 68 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดตัว SET Carbon ที่จะมาช่วยการคำนวณ Carbon Footprint ของแต่ละบริษัท ภายใต้มาตรฐาน Scope I, Scope II และจะพยายามไปให้ถึง Scope III โดย บจ.ไม่ต้องลงทุนเองหรือศึกษาเอง

จากนั้น เมื่อร่างพ.ร.บ.ก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังอยู่ระหว่างร่างกฎหมายออกมาบังคับใช้ บริษัทต่างๆ ต้องลด Carbon Footprint ลงให้ได้ เมื่อนั้นก็จะเกิดความต้องการซื้อขาย Carbon Credit ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมี Platform กลางสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ รวมถึงขยายไปถึงการซื้อขายระหว่างประเทศด้วย โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาซื้อหรือขาย Carbon Credit ได้ด้วย

“ณ วันนี้นักลงทุนทั่วโลกเขาเริ่มให้ความสำคัญเรื่อง ESG มากขึ้น ถ้าหากบริษัทจดทะเบียนไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ในอนาคต ก็มีโอกาสที่เขาอาจจะลงทุนไม่ได้ เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงกองทุน ThaiESG ก็เป็นการช่วยผลักดันด้านนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะสังเกตุได้ว่ามีบริษัทเข้ามาสมัคร ESG Rating เยอะ มันจะเป็นองค์ประกอบที่จะผลักดันและดึงดูดนักลงทุนไปพร้อมๆ กัน”

นายอัสสเดช กล่าวทิ้งท้าย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top