มองมุมต่าง: กายวิภาค IPO ผิดเพี้ยน สร้างความเสียหายให้กับผู้จองซื้อหุ้น

ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของตลาดหุ้น IPO ที่เข้ามาเทรดก่อนที่จะปิดสิ้นปี 2567 มีหุ้น IPO เข้าใหม่รวม 5 บริษัทผลงานที่ปรากฏออกมา “ค่อนข้างแย่ ถึง แย่มาก”

เนื่องจากทุกตัวราคาเปิดต่ำจองไม่พอ บางตัวร่วงลงปิดต่ำถึง -20% ขึ้นไป หรือบางรายร่วงในระหว่างวัน -30% ซึ่งหมายถึงการทำจุดต่ำสุดของราคาหุ้นที่เทรดปกติรายวันจะทำได้ (Floor)

ขณะที่หุ้นบางตัว ข้ามวันราคาร่วงลงเกิน -40% แบบนี้เหมือนลงทุนในหุ้นที่มีข่าวร้ายแรงออกมาจนกดดันให้ราคาร่วงลงมาเกือบ -50%

แต่ทั้งหลายทั้งปวง มีเพียงแค่ 1 บริษัทเท่านั้นที่สามารถยืนเหนือจองราคาจองซื้อได้จนถึงวันนี้

แน่นอนว่าบทความนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ หรือ เจตนาที่ต้องการจะเอาชื่อหุ้น IPO ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุน หรือแม้แต่ชื่อของที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) , อันเดอร์ไรเตอร์ มาพูดถึง

แม้ 3 ปาร์ตี้นี้จะเป็นผู้ที่รับผลประโยชน์สูงสุด ภายหลังจากที่ IPO จองครบหมดเรียบร้อย เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้อง และอยู่เบื้องหลังความเละเทะของหุ้น IPO, ใครคือสารตั้งต้นของผลงานที่ปรากฏออกมาแล้วต่ำจอง ข้อมูลเหล่านี้สามารถหาดูได้จากทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านลิ้งค์ด้านล่าง

https://www.settrade.com/th/equities/ipo-corner/ipo-performance/price-performance

แต่สิ่งที่อยากให้ความสำคัญ คือ “ความเข้าใจในหุ้น IPO” โดยสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ มุมมองทั่วไปของหุ้น IPO ที่ผู้ลงทุนความทำความเข้าใจธรรมชาติของมันก่อนเข้าลงทุน

เนื่องจากการลงทุนในหุ้น IPO มักมีเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิ

1. การเก็งกำไรในวันแรกของการเปิดซื้อขายที่มีแรงจูงใจมาจากสภาพคล่องสูง และมองเห็นส่วนต่างของกำไร

2. การลงทุนระยะยาวในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโต เพื่อหวังเงินปันผลและส่วนต่างของกำไร (Capital gain)

3. การมองหาโอกาสในธุรกิจที่น่าสนใจ

ไม่ว่านักลงทุนจะมีวัตถุประสงค์อย่างไรก็ตาม การที่หุ้น IPO จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีตั้งแต่วันแรกนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยสำคัญ อาทิ

1. วิธีกำหนดราคา IPO ด้วย Discount P/E – ทำบทวิเคราะห์โดยวิธี P/E นำมา Discount เป็นราคา IPO

2. ทำ Book build โดยวิธีการได้มาซึ่งการกำหนดราคา อาจเป็นการประเมินมูลค่าด้วยวิธีการต่างๆ แล้วนำกลไกตลาดที่มี Demand และ Supply เข้ามาช่วยในการกำหนดราคา โดยวัดระดับความสนใจซื้อของผู้ลงทุน

การจัดสรรตามกลุ่มผู้ลงทุน หุ้น IPO แต่ละตัว มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป การเสนอขาย IPO ควรเสนอขายให้กับนักลงทุนที่ตรงกลุ่ม อาทิ หุ้นขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องเพียงพอ แบบนี้ต้องเสนอขายให้นักลงทุนสถาบัน ,กองทุน ,นักลงทุนรายใหญ่

หุ้นขนาดกลาง ,ขนาดเล็ก ควรเสนอขายให้กลุ่มมิตรรักแฟนเพลง หรือ แฟนคลับที่คุ้นเคยกับการจองหุ้น IPO ของอันเดอร์ไรเตอร์รายนั้นๆ

นอกจากการกระจายหุ้นแล้ว ยังต้องดูปริมาณการขายหุ้นใหม่/หุ้นเก่า ที่มีแทรกเข้ามา

ในกรณีที่มีหุ้นเก่าเอามาขายพ่วงกับหุ้น IPO แบบนี้พอที่จะเข้าใจได้ และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงได้

แต่ในกรณีของหุ้นเดิมที่ไม่ติดไซเลนท์พีเรียด แบบนี้ควรระมัดระวังด้วย เนื่องจากต้นทุนของราคาหุ้นเดิมที่ไม่ติดไซเลนท์ฯ จะแตกต่างจากราคาจอง IPO อย่างแน่นอน ทำให้การตัดสินใจของหุ้นเดิมมีความเด็ดขาดมากกว่ากลุ่มที่ได้ราคา IPO

สำหรับรูปแบบการเสนอขายหุ้นให้กลุ่มผู้ลงทุนที่เน้นลงทุนระยะยาว หรือนักลงทุนรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงไม่ได้เหมาะกับหุ้น IPO ทุกตัว

ปัญหาที่พบมากและทำให้ราคาหุ้น IPO ร่วงหนักแม้จะมีกลุ่มผู้ลงทุนที่มีชื่อเสียงเข้ามามีชื่อโชว์ติดตอนจอง IPO สาเหตุหลักคือ

“การจองเพราะเกรงใจ” กลุ่มนี้ก็จะขายเปิด

“รับปากว่าจะทำราคาให้ และได้สิทธิจอง สุดท้ายก็รินปล่อยของทำกำไร”

สรุป ทั้งสองกลุ่มนี้ คือ “ไม่ถือหุ้น”

อาจจะเป็นเพราะความหมายของคำดั้งเดิมของคำว่า IPO เคยเป็น “Initial Public Offering” ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น “It is Probably Overvalued” ซึ่งแปลว่า “มันน่าจะแพงไป”

แม้ตัวย่อของ IPO ไม่ได้เปลี่ยน แต่ความหมายที่แท้จริงของมันถูกเปลี่ยนไป

ส่วนใครเป็นคนเปลี่ยนความหมายของ IPO คำตอบมีเฉลยอยู่แล้วในบทความนี้แล้ว

ธิติ ภัทรยลรดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top