ก.ล.ต. ฟัน ALL พร้อมอดีตบอร์ด-ผู้บริหารฐานปกปิดข้อความจริงสำคัญในแบบไฟลิ่งออกหุ้นกู้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ บมจ. ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ [ALL] พร้อมด้วยอดีตผู้บริหาร คือ นายดุษฎี เล็กยิ้ม และนายธนากร ธนวริทธิ์ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในความผิดกรณี ALL ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ filing) ในสาระสำคัญเกี่ยวกับการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า ข้อกำหนดในการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ปรากฏในร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ ALL ที่เปิดเผยไว้ในแบบ filing ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 (ร่างสัญญา) แตกต่างจากสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ ALL ลงนาม ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 (สัญญาฉบับลงนาม) และนำส่งต่อ ก.ล.ต.

กล่าวคือ ในร่างสัญญากำหนดเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหตุให้สัญญาสิ้นสุดลง “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์” แต่ในสัญญาฉบับลงนามกลายเป็นระบุว่า “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ออกหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์” ซึ่งการทำหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ถือเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อผู้ลงทุนอันมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลและรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นกู้

ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ นายดุษฎีและนายธนากร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ ALL และเป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของแบบ filing ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

การกระทำของ ALL ดังกล่าวข้างต้น จึงเข้าข่ายปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญของแบบ filing อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนและต้องระวางโทษตามมาตรา 278 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และการกระทำความผิดดังกล่าวของ ALL เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของนายดุษฎีและนายธนากร บุคคลทั้งสองดังกล่าวจึงต้องรับโทษตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 278 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ ALL นายดุษฎี และนายธนากร ต่อ บก.ปอศ.

ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top