INTERVIEW: “อัสสเดช” กับภารกิจดันหุ้นไทยท็อปฟอร์ม ปฏิบัติการเชิงรุกเรียกคืนความเชื่อมั่น

 

สภาพตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังคงเผชิญความท้าทาย หลังจากดัชนีหลุด 1,400 จุดก็ยังคงไหลลงอย่างต่อเนื่อง และมูลค่าการซื้อขายยังลดเหลือแค่วันละ 3-4 หมื่นล้านบาทน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ยังขายสุทธิ

ปัจจัยอะไรที่ฉุดรั้งตลาดหุ้นไทย?! และ Key สำคัญอะไรที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาอยู่ในโฟกัสของนักลงทุนต่างชาติ ?!

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนใหม่ และเป็นคนที่ 14 ให้สัมภาษณ์ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาน่าสนใจต้องย้อนกลับไปที่ปัจจัยพื้นฐานการลงทุน ความมั่นใจในเศรษฐกิจ ความมั่นใจในองค์ประกอบกที่จะสร้างเศรษฐกิจไทย การเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และ ต้องสื่อสารให้นักลงทุนรับรู้

*โอกาสดัชนี SET กลับไปไฮเดิม 1,700 จุด?

ผู้จัดการตลาดฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน ดัชนี SET เทรดอยู่บน P/E (Price-to- Earnings) 20 เท่า นั่นแปลว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ถูก แต่เป็นตลาดที่แพงติดอันดับสูงสุดในอาเซียน และมี บจ.ถึง 47% ที่มี P/BV (Price/Book Value) ต่ำกว่า 1 เท่า

“ตราบใดที่ทรัพย์สินไม่ได้เพิ่มมูลค่าตัวเอง มันจะกลับไป High เดิมได้อย่างไร…ดังนั้นต้องกลับมา Basic มาผลักดันอย่างไรให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพิ่ม E (Earning) ตัวเอง วางแผนที่จะเพิ่ม E ตัวเอง ให้ดึงตลาดเราขึ้นไป”

นายอัสสเดช กล่าว

ขณะที่ความคึกคักของตลาดหุ้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยต่างประเทศก็มีผลด้วยและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นสงครามจากความชัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายของว่าที่ประนาธิบดีสหรัฐหากมีการขึ้นภาษีนำเข้าจริงส่งผลทำให้เกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่ ประเทศไทยจะรับแรงกระแทบอย่างไร? จะเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง?

*ดึง New Economy เติมเสน่ห์ตลาดหุ้นไทย/ Jump+ ดึงศักยภาพ บจ.ออกมาโชว์

ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนดึงบริษัทที่มีโรกิจ New Economy เข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สตาร์อัพ หรือ เอสเอ็มอี เข้ามาใช้ช่องทางตลาดทุนเพื่อเสริมศักยภาพ โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เติบโตไปกับเทรนด์ของโลก ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีกระดาน LiveX ที่เปิดโอกาสให้สตาร์อัพหรือเอสเอ็มอีรายเล็กที่ขนาดยังไม่เข้าเกณฑ์การระดมทุนในตลาดใหญ่ เข้ามาลองใช้เครื่องมือในตลาดทุน

และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมองหารูปแบบอื่นจากกำลังศึกษาโมเดลในต่างประเทศ เช่น ตุรกี เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อเลือกรูปแบบที่จะเหมาะสมกับภาคธุรกิจของไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 68

พร้อมกันนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังริเริ่มโครงการ Jump+ (จัมพ์พลัส) ที่จะสนับสนุน-จูงใจ-ผลักดัน ให้ บจ. โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก เพิ่มศักยภาพติดอาวุธให้กับธุรกิจของตัวเองด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไอที คำแนะนำจากที่ปรึกษาทางธุรกิจ หรือความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญคือการเพิ่ม Earning (E) พร้อมไปกับการสื่อสารให้นักลงทุนทราบว่าบริษัทมีแผนงานอย่างไรพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ขณะที่มองว่า บจ.ขนาดใหญ่ก็ต้องแผน Transform ตัวเองเช่นกัน

*เดินหน้าเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายอัสสเดช กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคนี้ได้เดินหน้าแนวทางเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนใน 4 เรื่อง ได้แก่

เรื่องแรก เมื่อพบการกระทำผิด ต้องเข้าไปจัดการให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาขั้นตอนกว่าจะหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ในยุคนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อกระชับการทำงานให้รวดเร็วขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และก้าวต่อไปก็จะดึงหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมด้วย ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ อัยการ

“จุดเริ่มต้นที่ 3 หน่วยงานพยายาม work on detail กันอยู่ ในที่สุดการทำงานที่เร็ว รุนอรง และเหมาะสมน่าจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้คนคิดทำผิด” นายอัสสเดช กล่าว

เรื่องที่สอง ได้ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.เรื่องมาตรการตรวจสอบด้วยแนวป้องกัน 3 ด่าน (Three lines of Defense) คือ กรรมการบริษัท/กรรมการตรวจสอบ, ผู้ตรวจสอบบัญชีภายใน (Internal Audit) และ ผู้ตรวจบัญชี ซึ่งโดยหลักการจะช่วยป้องกันการทุจริตในบริษัทได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้ความรู้และสนับสนุนให้ทั้ง 3 ด่านมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่

เรื่องที่สาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีฝ่ายกำกับที่คอยตรวจสอบ บจ.และ การซื้อขายหุ้นว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แต่เนื่องจากตลาดหุ้นปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปริมาณรายการเทรดแต่ละวันสูงถึง 5 แสนรายการ จึงจำเป็นใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้

และเรื่องที่สี่ เป็นการสื่อสารให้นักลงทุนรับรู้ข้อมูลหรือสิ่งผิดปกติให้เร็วขึ้น แม้บางเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯโดยตรง แต่ในฐานะตัวกลาง จะต้องทำหน้าที่ออกมาช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับผู้ลงทุน โดยยกตัวอย่าง กรณีที่มีการนำใบหุ้นปลอมไปจำนำนอกตลาด หากมาตรวจสอบที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ก็จะทราบได้ว่าใบหุ้นนั้นจริงหรือปลอม ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนตระหนักรู้ รู้ข้อมูลเร็ว และมีสติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top