DSI หอบสำนวน 3 แสนแผ่นส่งอัยการฟ้อง 19 ผู้ต้องหา “ดิ ไอคอน” ข้อหาสำคัญฉ้อโกง-ทุจริตหลอกลวง

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงว่า DSI ส่งสำนวนคดีดิไอคอน กรุ๊ป ให้อัยการสั่งฟ้องครบ 19 ราย 5 ข้อหาแล้ว หลังจากได้รับสำนวนการสอบสวนกรณีกล่าวหาบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มาดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.67

“วันนี้ได้ลงนามในหนังสือส่งสำนวนการสอบสวนคดีฯ พร้อมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยมอบหมายให้ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีฯ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และคณะพนักงานสอบสวน เป็นผู้นำสำนวนการสอบสวนฯ จำนวน 161 ลัง รวม จำนวน 348,209 แผ่น ไปส่งมอบที่สำนักงานคดีพิเศษ เพื่อให้พนักงานอัยการมีความเห็นทางคดีต่อไป” อธิบดี DSI กล่าว

DSI ได้จัดกำลังสืบสวนสอบสวน โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ 7 หน่วยงาน ซึ่งในคดีนี้มีพยานเอกสารถึง 348,209 แผ่น พยานบุคคล 8,071 ปาก มีผู้เสียหายจำนวน 7,875 ราย มูลค่าความเสียหายสูงถึง 1,644 ล้านบาท ปรากฏผู้ต้องหา 19 ราย ซึ่งเป็นนิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และบุคคลธรรมดา จำนวน 18 ราย ได้แก่ นายนายวรัตน์พล หรือบอสพอล กับพวก และได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินในคดีฟอกเงินจำนวน 747.64 ล้านบาท อาทิ อาคารและที่ดิน

“รวมระยะเวลาในการสอบสวนคดีนี้ของกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลาเพียง 54 วัน” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.67 หลังจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีดังกล่าวได้มีการประชุมมีมติเห็นควรเสนอให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 19 ราย ในความผิดฐาน 5 ข้อหา คือ

1.ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2.ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

3.ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545

4.ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

5.ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top