คมนาคมลุยพัฒนาระบบขนส่งภาคอีสานเชื่อมไทย-ลาว-จีนสร้างโอกาสการลงทุน-ท่องเที่ยว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นฐานการผลิตและการบริโภคที่สำคัญ และเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน GPD กว่า 623 ล้านล้านบาท การเชื่อมต่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพจากไทยไปสู่จีน จึงเป็นการสร้างโอกาสทั้งในด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้า การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวออกไปยังจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาการเดินทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนได้ทั้งทางถนนและทางรถไฟ

กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงระหว่างไทย – ลาว – จีน และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยได้เร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC ให้เชื่อมต่อไปยังลาว เวียดนาม และจีนได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น เสร็จแล้ว ส่วนช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สำหรับระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย และชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2568 พร้อมนี้ได้เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้พัฒนามอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ปัจจุบันใกล้เสร็จแล้วและจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569 ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์สายใหม่ร่วมกับระบบรางจากแหลมฉบัง – นครราชสีมา เร่งรัดเปิดให้บริการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ภายในปี 2568 และอยู่ระหว่างพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 และพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเชื่อมรางกับถนนเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งว่าจะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นหรือนครราชสีมา เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศ (Aviation Hub) ของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาทิ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี ก่อสร้างลานกลับลำอากาศยานของท่าอากาศยานนครราชสีมา และสนับสนุนให้มีสายการบินพาณิชย์มาทำการบินให้มากขึ้น ขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่นและนครพนมให้สามารถรองรับจำนวนอากาศยานได้มากขึ้น และศึกษาออกแบบต่อเติมขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานร้อยเอ็ดและเลย ให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้

นายสุริยะ กล่าวในตอนท้ายว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Corridor สำคัญของไทย และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ กระทรวงคมนาคมพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยได้มอบนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ให้หน่วยงานในสังกัดใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน เดินหน้าลงทุนพัฒนา Mega Projects ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ พร้อมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top