GUNKUL กางโรดแมปธุรกิจปี 68 ชู 3 ธุรกิจ EPC-เทรดดิ้ง-ไฟฟ้าหนุน

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 68 เชื่อว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 67 เนื่องจากภาพรวมตลาดยังมีศักยภาพทั้งงานจากโครงการพลังงานทดแทนรอบใหม่ และงานของภาครัฐที่มีงบลงทุนด้านพื้นฐานเพิ่มเติมตามความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 68 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากประมาณการรายได้ปี 67 ที่คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตตามเป้า 15% จากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันถือว่าใกล้เคียงแล้ว หลัก ๆ การเติบโตยังคงมาจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า

ทั้งนี้ ปี 68 บริษัทฯ ตั้งเป้างานในมือจากธุรกิจ EPC ไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าวางเป้ากำลังการผลิตเติบโต 35% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,500 เมกะวัตต์ โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 กำลังการผลิตที่เสนอขายรวม 2,145 เมกะวัต์ ซึ่งกลุ่มบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี9 จำกัด ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยจะทยอย COD ตั้งแต่ปี 70-73 ส่งผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น ประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯ คือ การมีเมกะวัตต์สะสมเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 69 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลม

ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 832 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าวินด์ฟาร์ม ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปก่อนหน้านี้ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตั้งแต่ปี 69-73 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

“ตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้บริษัทในกลุ่มของ GUNKUL ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขายสินค้าในระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้างจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมไปด้วยโดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับโอกาสทำสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมองว่ามองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและต้องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น GUNKUL ก็ยังมีโอกาสในการที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นรวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้ก็หันมาใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโซล่าห์ที่เป็น Private PPA ของ GUNKUL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการที่บริษัทฯ ได้มาใหม่ถ้าอยู่ในกลุ่มหนึ่งเราสามารถเซ็นสัญญาได้ภายใน 14 วันนับจากวันที่ประกาศจึงคาดว่าน่าจะเซ็นได้ภายในต้นปี 68 หลังจากปีใหม่ ส่วนกลุ่มสอง คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายใน 60 วัน เนื่องจากต้องมี Common Facilities Sharing ตามเงื่อนไขของการไฟฟ้าก่อน” นางสาวโศภชา กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top