บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 2.50 บาท/หุ้น ระยะเวลาจองซื้อในวันที่ 3-5 พ.ย.63 คาดว่าหุ้นจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 11 พ.ย.63 โดยบริษัทเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 157,017,300 หุ้น แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุน จำนวน 117,017,300 หุ้น และนายวิชัย วชิรพงศ์ (เสี่ยยักษ์) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทได้เสนอขายหุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 40,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
SABUY จะเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นผ่านกลุ่มบริษัทผู้จัดจำหน่าย ได้แก่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ,บล.คันทรี่ กรุ๊ป ,บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ,บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) และบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) และมีกำหนดการจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม ไอ เอ (mai) ในวันที่ 11 พ.ย.63
การเสนอขายหุ้น IPO มีมูลค่ารวม 392,543,250 บาท แบ่งเป็น มูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 292,543,250 บาท และมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยนายวิชัย วชิรพงศ์ จำนวน 100,000,000 บาท
การกำหนดราคาของหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่จะเสนอขายในครั้งนี้ที่ราคา 2.50 บาทต่อหุ้น มาจากสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ซึ่งราคาเสนอขายคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 22.95 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 ซึ่งเท่ากับ 96.72 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Pre Diluted) จำนวน 887,982,700 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.11 บาทต่อหุ้น
วัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าของ VDP ในต่างจังหวัด ใช้เงินประมาณ 8 ล้าบาท ในช่วงปี 64-65 โดยบริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (VDP) มีแผนเพิ่มการให้บริการตู้ขายสินค้าอัตโนมัติไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลในประเทศไทย เพื่อการให้บริการที่กว้างขวางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าหรือตัวแทนบริการในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งศูนย์ปกระจายสินค้าจะใช้สำหรับโหลดสต็อกสินค้า เก็บอุปกรณ์และอะไหล่ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงรองรับที่จอดรถสำหรับพนักงานรูทแมน คาดว่า VDP จะเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าในปี 64 จำนวน 2 แห่ง และในปี 65 อีกจำนวน 2 แห่ง
โครงการเพิ่มการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของ VDP จะใช้เงินประมาณ 116.62 ล้านบาทภายในปี 64 โดย VDP มีแผนที่จะตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางขึ้น อีกทั้งมีแผนจะตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายมีจำนวนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติรวมทั้งสิ้น 12,200 ตู้ภายในปี 64 จากจำนวนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ จำนวน 5,782 ตู้ ณ วันที่ 31 ส.ค.63 คิดเป็นเงินลงทุนรวมไม่เกิน 655 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ รวมกันกับการใช้กระแสเงินสดภายในกิจการ และการจัดหาเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
โครงการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติของกลุ่มบริษัทฯ ใช้เงินประมาณ 35 ล้านบาทภายในปี 64 บริษัทฯ และ VDP วางแผนที่จะติดตั้งเครื่องรับบัตร (Smart Card Reader) ให้กับตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติให้ได้ 10,000 เครื่องภายในปี 66 ณ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ ยังไม่มีการติดตั้งเครื่องรับบัตร ซึ่งเป็นการติดตั้งบนตู้เติมเงินที่บริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในสัดส่วนประมาณ 6,000 ตู้ และ 4,000 ตู้ ตามลำดับ เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับชำระเงินทั้งในรูปแบบของการชำระเงินโดยใช้บัตร (Card based) และการชำระเงินโดยไม่ใช้บัตร (Non-Card based)
โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) ใช้เงินประมาณ 40 ล้านบาทภายในไตรมาส 1/64 บริษัท สบายมันนี่ จำกัด (SBM) มีแผนจะเป็นผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในรูปแบบของบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ และรูปแบบของเงินอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (e-Wallet) ซึ่ง SBM จะต้องลงทุนพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติม และออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ SBM ได้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ e-Money จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้วในเดือน มี.ค.63 ที่ผ่านมา
โครงการให้บริการระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Platform Provider) ใช้เงินประมาณ 55 ล้าบาท ภายในไตรมาส 1/64 SBM มีแผนจะเป็นผู้ให้บริการระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะสามารถรองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งของ SBM และของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ตลอดจนการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตตามที่ SBM กำหนด ให้แก่เจ้าของศูนย์อาหาร สหกรณ์ และ/หรือเจ้าของร้านค้าที่มีความสนใจใช้ระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
โครงการให้บริการระบบบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหาร และ/หรือร้านค้า ในวงจำกัด (Closed Loop) ใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1/64 โดยSBM มีแผนที่จะเป็นผู้ให้บริการระบบบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหารและ/หรือร้านค้าที่มีความสนใจใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบบัตร
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SABUY เปิดเผยว่า เดิมทีนายวิชัย ถือหุ้นในบริษัทจำนวน 328 ล้านหุ้น และได้ขายออกไปแล้วประมาณ 280 ล้านหุ้นให้กับผู้บริหารของบริษัท และ Strategic partner ซึ่งในการขาย IPO ครั้งนี้ นายวิชัย จะนำหุ้นที่เหลืออยู่อีกราว 40 ล้านหุ้นมาเสนอขายด้วย โดยคาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
“เราไม่สามารถการันตีอะไรได้ และการลงทุนมันมีความเสี่ยง แต่ในการดำเนินธุรกิจของตู้เติมเงินและเวนดิ้งแมชชีนนั้น ปัจจุบันเราก็เป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรม และยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ซึ่งเรามีระบบหลังบ้านขนาดใหญ่ที่มีโอกาสต่อยอดการเติบโต ขณะที่ ปัจจุบัน D/E เราอยู่ในระดับต่ำมาก การได้เงินมาขยายธุรกิจครั้งนี้ก็จะเป็นการต่อยอดการเติบโตไปอีก”
นายชูเกียรติ กล่าว
SABUY เป็น 1 ใน Growth Tech Company ที่มีแผนสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 มีผลประกอบการเติบโตสูง สวนทางสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างรุนแรง จากผลกระทบจากวิกฤติไวรัส โควิด-19 โดยในงวดครึ่งปีแรกปี 63 นี้ บริษัทมีรายได้รวม 720 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21% และมีกำไรสุทธิ 46.27ล้านบาท เติบโตขึ้น 530% จากงวดครึ่งปีแรกปี 62 โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ด้านการจำหน่ายสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญของ SABUY กล่าวว่า หุ้น IPO ของ SABUY ได้รับความสนใจอย่างสูงจากการโรดโชว์สถาบันการเงินต่าง ๆ และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยนักลงทุนสถาบันการเงินได้แสดงความสนใจในการจองซื้อหุ้นผ่านการทำ Book Building ซึ่งราคาหุ้นขายที่ 2.50 บาท/หุ้น นับเป็นราคาที่เหมาะสม ขณะที่ SABUY ยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,050 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นและ อัตรากำไรสุทธิสูง และ มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำ จึงมีโอกาสในการขยายกิจการด้าน Commerce & Payment Solutions ได้อีกมาก
บริษัทประกอบธุรกิจใน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่
- ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” มากกว่า 52,000 ตู้
- ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส” และ “6.11” กว่า 5,700 ตู้
- ธุรกิจระบบศูนย์อาหาร มีศูนย์อาหารภายใต้การดูแลทั้งหมด 205 ศูนย์ และ
- ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน ผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท สบาย มันนี จำกัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 พ.ย. 63)
Tags: IPO, SABUY, VDP, ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ, สบาย เทคโนโลยี, เวนดิ้ง พลัส