สืบเนื่องจากกรณีที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รพ.มงกุฎวัฒนะมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP-Refer จากทุกคลินิกที่ส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป โดยระบุสาเหตุว่า เนื่องจาก สปสช.ค้างจ่ายเงินกรณี OP-Refer นั้น
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า สปสช.ยืนยันว่ามีงบประมาณสำหรับจ่ายให้โรงพยาบาล แต่เนื่องจากกรณีของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือเงินจำนวน 13.2 ล้านบาทนั้น เป็นหนี้ค้างชำระจากคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อให้คลินิกดังกล่าว แต่คลินิกถูก สปสช.ยกเลิกสัญญา จากสาเหตุการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้อง เมื่อปี 2563 จึงทำให้คลินิกสิ้นสภาพการเป็นหน่วยบริการคู่สัญญากับ สปสช. และไม่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.จัดสรรอีก จึงทำให้ไม่มีเงินรายรับสำหรับการหักเพื่อจ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่รับส่งต่อจำนวนหนึ่งประสบกับเหตุการณ์ในกรณีนี้เช่นเดียวกัน และเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางคดี สปสช.จึงไม่สามารถจ่ายเงินตรงนี้ได้ และตามกฎหมาย สปสช.ไม่มีอำนาจในการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปทดรองจ่ายหนี้ของคลินิกเอกชนให้โรงพยาบาลรับส่งต่อได้
ส่วนที่ 2 คือ เงินจากการส่งต่อผู้ป่วยกรณี OP-Refer จากคลินิก สาเหตุที่ยังค้างจ่ายอยู่ เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยนอกในพื้นที่ กทม. เนื่องจากคลินิกเอกชนได้ร้องขอตรวจสอบข้อมูลการจ่าย ทั้งการจ่าย OP Refer และ OP Fee Schedules จำนวน 5,516,644 รายการ มูลค่า 2,138.88 ล้านบาท และข้อมูล CR 315,133 รายการ มูลค่า 1,247.76 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 มีมติให้ สปสช.ชะลอการจ่ายงบ OP Refer และ งบ CR ตั้งแต่งวดที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2567 จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ เมื่ออยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงไม่สามารถจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อได้ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้หารือเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 และมีมติเห็นชอบการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาล (Prepaid) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง หลังจากบอร์ดมีมติ อีก 2 วัน สปสช. ได้โอนเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ไปแล้ว และในปี 2566 สปสช. ได้โอนเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 649 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 696 ล้านบาท และปี 2568 ได้โอนไปแล้ว 226 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,571 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ รพ.มงกุฎวัฒนะประกาศว่าจะหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP-Refer จากทุกคลินิกที่ส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไปนั้น เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทาง สปสช. ได้ประสานโรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อรักษาต่อไป ได้แก่ รพ.จุฬาภรณ์ และ รพ.แพทย์ปัญญา โดยผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวและมีนัดรักษาต่อที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอให้ผู้ป่วยโทร.ประสานสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประสานการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งต่อไป ซึ่งในวันนี้ได้ประสานเพื่อรับการรักษาแล้วประมาณ 40 ราย และสำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เดิมต้องส่งต่อมารักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอให้ประสาน สายด่วน สปสช. 1330 เช่นกัน ทาง สปสช.จะเป็นผู้ประสานหาโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 67)
Tags: สปสช., สิทธิบัตรทอง, โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ