ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ย. ร่วงต่อเดือนที่ 7 กังวลเศรษฐกิจใน-ตปท. น้ำท่วมฉุด

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือนพ.ย. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 48.9 ในเดือนต.ค. 67 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (ตั้งแต่เดือนพ.ค. 67) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับปกติ) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 48.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.8
  • ภาคกลาง อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.9
  • ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.5 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 51.8
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.6 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.7
  • ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.3 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.7
  • ภาคใต้ อยู่ที่ 47.6 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.0

“ภาคตะวันออกเป็นภาคเดียวที่ดัชนีเกิน 50 จากปัจจัยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาต่อเนื่อง และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้” นายวชิร กล่าว

ปัจจัยลบ ได้แก่

  1. ผู้ประกอบการบางรายยังคงมีความกังวลกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอน และราคาของวัตถุดิบบางอย่างที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
  2. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น
  3. การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกที่ช้าหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  4. ความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการและขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เกิดความเสียหาย
  5. ความกังวลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน
  6. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร
  7. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.10 บาทต่อลิตร จากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา
  8. SET Index เดือน พ.ย. 67 ปรับตัวลดลง 38.5 จุด
  9. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.372 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 67 เป็น 34.448 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 67 ทำให้มีความกังวลว่าจะส่งกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ปัจจัยบวก ได้แก่

  1. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/67 ว่า เศรษฐกิจขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2/67 ส่วนช่วง 9 เดือนของปี 67 ขยายตัว 2.3% โดยทั้งปี 67 คาดจะขยายตัว 2.6%
  2. รัฐบาลดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวม 14.55 ล้านคน โดยเริ่มทำการโอนเงิน 10,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 67 เป็นต้นไป
  3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว รวมการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น
  4. การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 67 ขยายตัว 14.6% มูลค่าอยู่ที่ 27,222.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 7.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 28,016.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 794.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
  6. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67-30 ก.ย. 68 เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
  7. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่เดือน พ.ค.-พ.ย. 67

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้

  • ดูแลบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
  • มาตรการดูแลราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนของภาคธุรกิจให้มีความเสถียรภาพ
  • การดูแลรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมต่อการส่งออก รวมทั้งไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน
  • มาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • การดูแลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งที่คลี่คลายไปแล้ว และบางพื้นที่กำลังเผชิญอยู่
  • รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุล เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top