จากปริมาณฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำและคลองสาขา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะล้นตลิ่งและหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 27 พ.ย.-10 ธ.ค.67
ปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 68 อำเภอ 452 ตำบล 2,831 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 240,007 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
ล่าสุดเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ “ยกธงแดง” เตือนภัยประชาชนที่อาศัยในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของและเตรียมเข้าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากมีมวลน้ำจากนอกพื้นที่จำนวนมากได้ไหลเข้าสู่ทั้งคลองอู่ตะเภา และคลองหวะ ตั้งแต่ต้นน้ำและกลางน้ำ ส่งผลให้คลองหวะ คลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำที่ 1 ได้เอ่อล้น อาจจะเข้าท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีความกังวลเรื่องปัญหาดินโคลนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ แต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงสัปดาห์แรกจะต้องมีการประสานงานดูแลให้ดี โดยคาดว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อีก 2-3 วัน และหากไม่มีอะไรมากกว่านี้ มวลน้ำก็จะไหลลงสู่ทะเล และหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรเสร็จแล้วก็จะลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมประชาชน
ส่วนการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้สั่งการไปแล้ว โดยให้เริ่มดำเนินการได้ทันที ซึ่งรูปแบบคงไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยต้องกลับมาดูว่าจะให้ความช่วยเหลือรายบุคคล และความเสียหายเรื่องที่อยู่อาศัยแต่ละกรณีได้จำนวนเท่าไหร่ หลักเกณฑ์การประเมินคงแตกต่างจากพื้นที่ภาคเหนือที่มีปัญหาดินโคลนถล่ม ส่วนพื้นที่ภาคใต้เป็นเรื่องน้ำไหลหลากผ่านไป
สำหรับแผนช่วยเหลือของกองทัพนั้นมีความชัดเจนตามขั้นตอนการช่วยเหลือภัยพิบัติ โดยมีแผนเผชิญเหตุอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อวานผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 4 ทำงานร่วมกับจิตอาสาพระราชทานเข้าไปร่วมกันช่วยเหลือประชาชน โดยขณะนี้ทุกภาคส่วนกำลังเร่งทำงานเต็มที่
ขณะที่การลำเลียงนำประชาชนที่ประสบภัยออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มคนชรายังมีความเป็นห่วงที่พักอาศัย โดยได้ประสานหน่วยงานทหารและภาคเอกชนให้นำเรือท้องแบนเกือบ 50 ลำมาช่วยลำเลียงเด็กและผู้ป่วย รวมถึงลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือ และวันนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะส่งเรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลืออีกประมาณ 100 ลำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)
Tags: น้ำท่วม, น้ำท่วมภาคใต้, อุทกภัย