มติศาลรธน.ไม่รับคำร้องวินิจฉัย “ทักษิณ-เพื่อไทย” ปมล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสร็ภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิบไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้ง 6 ประเด็น

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้นายธีรยุทธ จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้วและอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ อันทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

สำหรับข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของนายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ

ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย

ส่วนประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 คน คือ นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

*ย้อน 6 คำร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย”

กรณีที่ 1 นายทักษิณ ได้รับพระราชทานลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี แต่กลับสั่งการพรรคเพื่อไทยใช้อำนาจผ่านกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจเอื้อประโยชน์ให้อยู่ห้องพักชั้น 14 ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

กรณีที่ 2 ฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ผู้นำทางการเมืองของกัมพูชา มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทยในการการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544)

กรณีที่ 3 สั่งการพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชน (พรรคก้าวไกลเดิม) เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ และพวก

กรณีที่ 4 ครอบงำและสั่งการพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับแกนนำพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐนตรี เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายเศรษฐาที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

กรณีที่ 5 สั่งการพรรคเพื่อไทยขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

กรณีที่ 6 สั่งการให้พรรคเพื่อไทยนำเรื่องที่นายทักษิณที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปเป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top