ZoomIn: เขย่าวังบางขุนพรหม! ล็อกมง “กิตติรัตน์” นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

ถือฤกษ์ดี 11.11 คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานฯ นัดประชุม และลงมติเมื่อวันที่ 11 พ.ย 67 หลังจากประชุมยาวนานเกือบ 5 ชม.และเลื่อนมาแล้วถึง 2 รอบ ที่สุดลงมติเรียบร้อย แม้จะยังไม่ได้ประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ทุกสายข่าวระบุตรงกันว่า ว่าที่ ประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

นายกิตติรัตน์ ถูกเสนอชื่อจากฝ่ายกระทรวงการคลัง หากเปรียบกับเวทีประกวดนางงามจะใช้คำว่า “ล็อกมง” ก็ดูจะไม่ผิด ซึ่งนายกิตติรัตน์มีดีกรีเป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อีกทั้งล่าสุดยังเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะไม่ถูกมองว่าเป็น “คนการเมือง”

ด้วยตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ถูก “ล็อกมง” ให้กับบุคคลใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยเช่นนี้ ทำให้เกิดกระแสคัดค้านต่อต้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ 4 อดีตผู้ว่าฯ ธปท., นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ตลอดจนเครือข่ายนักศึกษาประชาชน และกลุ่มศิษย์หลวงตามหาบัว ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อประชาชนคัดค้านการเลือก “กิตติรัตน์” กว่า 8 หมื่นรายชื่อ

โดยสรุปเหตุใหญ่ใจความสำคัญของการคัดค้าน เพราะเกรงว่า “การเมือง” จะเข้ามาแทรกแซง หรือ ครอบงำ ธปท. ผ่านประธานบอร์ด พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คนพิจารณาคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจ และความสัมพันธ์ทางการเมือง เพื่อให้ ธปท. เป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง

เลือกประธานบอร์ด ธปท. ถูกปั่นเป็นประเด็นการเมือง เกินไป?

จากความกังวลว่าการเมืองจะแทรกแซงครอบงำ ธปท. จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ที่จะเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท.นั้น นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และอดีตกรรมการ ธปท. ให้ความเห็นไว้ว่า การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติถูกทำให้เป็น “ประเด็นทางการเมือง” มากเกินไป ทั้งที่จริงแล้ว เป็นเรื่องของระบบการบริหารนโยบายการเงิน อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ที่แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และรัฐบาล จะต้องทำงานร่วมกัน

“คณะกรรมการสรรหา มีหน้าที่ในการสรรหาประธานบอร์ด และบอร์ดที่เหมาะสม เพื่อจะเดินหน้าทำงานต่อไปอย่างต่อเนื่องได้”

นายอนุสรณ์ กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

การตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลส่ง “นายกิตติรัตน์” เข้ามาเพื่อเป็นตัวแทนลดช่องว่างทางความคิดระหว่าง ธปท. กับรัฐบาล โดยเฉพาะแนวนโยบายในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น นายอนุสรณ์ มองว่า รัฐบาลอาจต้องการให้มีการปฏิรูปแบงก์ชาติ และต้องการให้นโยบายการเงิน ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีขึ้นมากขึ้น

“การส่งอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง (นายกิตติรัตน์) ก็เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าภารกิจของรัฐบาลจะบรรลุเป้าหมาย”

อดีต กรรมการ ธปท. กล่าว

พร้อมมองว่า การ “เห็นต่าง” เป็นเรื่องปกติ เพราะมีข้อดี คือ ทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลว่าอยู่บนฐานความคิดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ แต่ข้อเสีย คือ อาจถูกมองว่าไม่มีเอกภาพ การขับเคลื่อนนโยบายจะทำได้ไม่เต็มที่ และติดขัดได้จากการไม่ลงรอยกันทางความคิด ซึ่งบางเรื่องที่มีความอ่อนไหว จึงจำเป็นต้องหารือกันเป็นการภายใน

เส้นบางๆ ระหว่าง กำกับดูแล VS แทรกแซง

นายอนุสรณ์ ให้มุมมองต่อถึงความเป็นไปได้ที่ตำแหน่ง “ประธานบอร์ด ธปท.” จะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท.ด้วยว่า ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่าการกำกับดูแลให้มีการดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ “ไม่ใช่การแทรกแซง” การกำกับดูแล จึงไม่ใช่การแทรกแซง ส่วนหากมีการแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสม ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่น

การรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินการของ ธปท. มีความสำคัญต่อเสถียรภาพในระยะยาว แต่ความเป็นอิสระนั้น จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของการรับผิดชอบต่อประชาชน และรัฐบาล ไม่ใช่เป็นอิสระแบบปราศจากความรับผิดชอบ เพราะการเป็นอิสระเช่นนั้น ย่อมจะเป็นผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้เช่นเดียวกัน

“ขอให้ไปศึกษาบทเรียน ตอนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และการเงิน เมื่อปี 2540 ขอให้ไปดูบทบาทของผู้บริหารแบงก์ชาติ รัฐบาล ผู้บริหารสถาบันการเงิน ในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้เข้าใจว่า อิสระอย่างมีความรับผิดชอบ ควรเป็นอย่างไร” นายอนุสรณ์ ระบุ

กาง พ.ร.บ.แบงก์ชาติ ส่องโครงสร้าง- อำนาจ-หน้าที่ บอร์ด ธปท.

ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ในมาตรา 24 ได้กำหนดไว้ว่า คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วย

– ประธานกรรมการ 1 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

– ผู้ว่าการ ธปท. 1 คน และรองผู้ว่าการ 3 คน เป็นรองประธาน

– เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

– กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน (รัฐมนตรีแต่งตั้ง) กรรมการเลขานุการ 1 คน (ผู้ว่าการฯ เป็นผู้แต่งตั้ง)

มาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการ ธปท.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ และการดำเนินการของ ธปท. เว้นแต่กิจการและการดำเนินการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กนร.)

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ธปท.ยังมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ล้วนแล้วแต่มีผลต่อทิศทางการบริหารและการดำเนินงานของ ธปท. อย่างมาก เช่น

1. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดได้บ้าง [พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (8)

2. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนง.4 คน จาก จำนวนทั้งหมด 7 คน, แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิใน กนส.5 คน จากทั้งหมด 11 คน และแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) 3 คนจากทั้งหมด 7 คน [พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/6 , พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/9 และ พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/11]

3. ให้คำแนะนำต่อ รมว.คลัง เพื่อปลดผู้ว่าฯ ธปท.กรณีบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ [พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5)]

ด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ของคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย จึงอาจเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับกลุ่มคัดค้านการเข้ามาของนายกิตติรัตน์ ด้วยเกรงว่าถ้ามี “คนการเมือง” ถูกวางตัวขึ้นมาเป็นประธานบอร์ด ธปท. อาจจะนำมาซึ่งความไม่เป็นอิสระของ ธปท. ปัญหาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือของ ธปท.ในสายตาของสากล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในนโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้

พร้อมยังมองว่า นายกิตติรัตน์ อาจมีปัญหาด้านคุณสมบัติที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมืองก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย, ประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา”

และที่สำคัญในปี 68 จะต้องมีการคัดเลือกผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ เนื่องจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน จะครบวาระ ดังนั้น ตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. จึงมีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ด้วยเช่นกัน

ขณะที่มุมมองของนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่เชื่อว่าการเมืองจะสามารถเข้าไปแทรกแซงการทำงานภายใน ธปท.ได้ เพราะบุคคลที่จะมานั่งตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. หากได้รับการคัดเลือกเข้าไปแล้ว จะเป็นคนของ ธปท. ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และจรรยาบรรณของธปท. ดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงินได้ และไม่สามารถปลดผู้ว่าการ ธปท. ได้เช่นกัน

หลังจากนี้ คงต้องรอให้ รมว.คลัง นำชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ประธานบอร์ด ธปท.” คนใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป ขณะที่ นายปรเมธี วิมลศิริ แม้ครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ไปแล้ว เมื่อสิ้นเดือน ก.ย.67 แต่ยังมีอำนาจรักษาการในระหว่างที่รอแต่งตั้งประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แทน

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว “ประธานบอร์ด ธปท.” คนใหม่ จะเป็น “กิตติรัตน์” หรือใครก็ตาม เชื่อว่าสปอร์ตไลท์ทุกดวงจะสาดส่องโฟกัสการทำงานภายใต้หมวกใบนี้ว่าจะสามารถรักษาความเป็นอิสระ ความเป็นกลางในการบริหารงาน และการดำเนินนโยบายการเงิน ของ ธปท. ได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เพื่อลบคำครหาจากสังคมให้หมดไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top